ขอพร พญาเต่างอย สกลนคร เปิดตำนาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้โชคลาภ

96

ขอพร พญาเต่างอย สกลนคร เปิดตำนาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้โชคลาภ

หลายคนคงเคยได้ยิน เพลงเต่างอย ของ จินตหรา พูนลาภ แต่ยังไม่รู้ถึงเรื่องราว และความศักดิ์สิทธิ์ของ พญาเต่างอย ที่เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวสกลนคร วันนี้เราเลยจะพาไปขอพร และเปิดตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของพญาเต่างอย ที่สกลนครกันค่ะ

ตำนานพญาเต่างอย

ตำนานพญาเต่างอย เริ่มถูกเล่าขานกันเมื่อราว 400 ปีก่อน โดยไทยได้ทำสงครามกับลาว คนลาวพ่ายแพ้จึงถูกกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทย เมื่อเดินทางมาถึงลำน้ำพุง ซึ่งเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ และมีเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คนในสมัยก่อนเห็นว่าบริเวณนี้น่าจะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้ตั้งถิ่นฐานขึ้น โดยตั้งชื่อว่า หมู่บ้านเต่างอย ตามสถานที่พบเห็นเต่าที่กำลังลอยริมฝั่งแม่น้ำ (เต่างอย หมายถึง เต่าที่อยู่บนที่สูง หรือ อยู่ริมตลิ่ง หรือ โขดหิน) หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีสัญลักษณ์เป็น รูปเต่า และได้ตั้งชื่ออำเภอว่า เต่างอย จนเรียกกันติดปากมาถึงปัจจุบันนี้นั่นเองค่ะ

ภายหลังมีการสร้างสัญลักษณ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของอำเภอเต่างอยขึ้น โดยให้ช่างจากศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม สร้างรูปปั้นเต่ายักษ์ไว้หลังที่ทำการอำเภอเต่างอย มีลักษณะเป็นเต่าขนาดใหญ่ เกล็ดบนหลังแต่ละเกล็ดมีรูปพระเกจิอาจารย์ประดับตกแต่ง ส่วนบนหลังจะประดับด้วยดอกบัวปั้น ในดอกบัวมีสร้อยทอง พระ ของขลังต่างๆ บรรจุไว้พร้อมฉาบปิดไว้อย่างแน่นหนา

หลังจากนั้นมา รูปปั้นพญาเต่างอย ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำเภอ และเป็นที่สักการะของชาวบ้าน โดยมีความเชื่อว่า ผู้ที่เดินทางมากราบไหว้ และขอโชคขอลาภกับพญาเต่างอยนั้น จะได้โชคลาภกลับไป ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และเชื่อว่าการมาสักการะบูชาจะทำให้อายุยืนยาวมีโชคมีลาภกลับบ้านไปทุกคน

ความเชื่อส่วนตัวของแต่ละคนนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ไม่เชื่อก็ไม่ควรลบลู่ เพราะเคยมีชาวบ้านนำเลขจากใบเซียมซีไปเสี่ยงโชค และได้สมหวัง จึงทำให้คนแห่ไปกราบไหว้ขอพร พญาเต่างอย สกลนคร ให้มีโชคลาภ ความสำเร็จ และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นจำนวนมากค่ะ และผู้คนที่เคยบนบานศาลกล่าวกับพญาเต่างอยไว้จนประสบความสำเร็จ ก็มาแก้บนกันเป็นอยู่ประจำ จึงทำให้พญาเต่างอย เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน

คาถาบูชาพญาเต่างอย
ค้าขายดี มีโชคลาภ

จุดธูป 3 ดอก ท่องนะโม 3 จบ

อิมัง พันเต พุทธ กัสสโป
เถโล มัยหัง พุทธัง ประสิทธิเม
ธัมมัง ประสิทธิเม ยะเตมัยหัง
พุทธัง ปูเชมิ (กล่าว 3 จบ)

 

ที่มา : https://travel.trueid.net/detail/rxOlgdZgdkVK

ความเห็นถูกปิด