ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีผีโรง
การรับผีโรง เมื่อครอบครัวใดมีบุตรเกิดมาเป็นคนหัวปี ในระยะแรกเกิดให้ทำพิธีรับผีโรง เสียชั้นหนึ่งก่อน มีพิธีกรรม คือ เตรียมชะลอม 1 ใบ ในชะลอมนั้นใส่กระเทียม เกลือ พริก ข้าวสาร หมากพลู และใบยาสูบ ถ้าได้ลูกชายใช้เทียนขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปหมู 1 ตัว ส่วนลูกสาวให้ปั้นเพียงแค่หัวหมูเท่านั้น นำไปวางทับบนสิ่งของในชะลอม ใช้ธูป 3 ดอก แล้วมัดปากชะลอม
จากนั้นนำชะลอมไปวนรอบตัวเด็ก พร้อมกับพูดว่า “ผีเม็งผีมอญ แต่เก่าแต่ก่อนที่ทำกันมา ผีเหย้าผีเรือน ผีปู่ผีย่า ขอเชิญท่านมา รับผีโรงเทอญ” หรือกล่าวอย่างอื่น ๆที่ต้องการให้ผีโรงับรู้ก็ได้ พร้อมทั้งขอพรว่า “ขอให้ช่วยปกปักรักษา อย่ามีโรคาพยาธิใดใด อย่าเจ็บหลายหน่อย อย่าป่วยหลายไข้ อย่าโหยร่ำไห้เวลากลางคืน” จากนั้นจึงนำชะลอมไปแขวน ณ ที่ราบสูง ๆ ภายในบ้าน ห้ามมิให้เด็กเล่นหรือใครไปจับต้องเป็นอันขาด
การแก้ผีโรง ตามประเพณีนับถือในแต่ละถิ่นดูเหมือนไม่ค่อยตรงกันนักซึ่งอาจเนื่องมาจากการ พัฒนาขึ้น ทำให้การทำพิธีหลายอย่างเปลี่ยนไป แต่นางแจงยืนยันว่าตามประเพณีแท้จริงจะต้อง “รอให้เด็กเติบโตขนาดกินหมูได้” จึงจะทำพิธีแก้ผีโรง ส่วนชาวบ้านอบทมยืนยันว่า ตั้งแต่รับผีโรงจะต้องเลี้ยงหมูไว้ 1 ตัวต่อลูก 1 คน เลี้ยงหมูไปจนกว่าลูกจะพูดคำว่า “หมู” ได้จึงจะแก้ผีโรง หรือเมื่อลูกมีอายุ ๗ ขวบเลยทีเดียว
พิธีกรรมในการแก้ผีโรง เตรียมหมูที่เลี้ยงไว้หรือซื้อมา ถ้าลูกผู้ชายใช้หมู 1 ตัว ลูกผู้หญิงใช้เพียงหัวหมู 1 หัว แล้วนำมาจัดตั้งกองพิธีกลางแจ้ง เตรียมข้าวสวย 1 ถ้วย น้ำพริกเผา 1 ถ้วย เหล้าขาว 1 ขวด บุหรี่ 1 ซอง หมาก 1 คำ น้ำ 1 ขัน
จากนั้นเจ้าพิธีจะตั้งนะโม 3 จบ และสวดบทชุมนุมเทวดาและบทลาว่า “ผีเม็งผีมอญ แต่เก่าแต่ก่อน เคยทำกันมา ผีเหย้าผีเรือน ผีปูผีย่า ขอเชิญท่านมา กินของบัดพลีขอแก้ผีโรง ฉันเคยประสงค์ ขาดกันบัดนี้ ขอให้ลูกได้ สุขพิพัฒน์สวัสดี ทุกจรลี เป็นเงินเป็นทอง” เมื่อลาแล้วให้เจ้าบ้านตัดหมูเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายแก่ญาติพี่น้อง หรือบางบ้าน อาจเชิญแขกมารับประทานอาหารร่วมกัน
ความเห็นถูกปิด