ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีวางศิลาฤกษ์
พิธีวางศิลาฤกษ์ คือพิธีวางแผ่นศิลาจารึกเวลา วัน เดือน ปี อันเป็นมงคล ที่เรียกว่า ดวงฤกษ์ แห่งการก่อสร้าง ไว้ ณ บริเวณสถานที่ก่อสร้างอาคารถาวรต่าง ๆ เช่นอาคารทางศาสนา มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น อาคารของทางการ มีศาลากลางจังหวัด ศาลาเทศบาล อาคารกองบังคับการของหน่วยทหาร เป็นต้น อาคารของเอกชน มีธนาคาร ภัตตาคาร เป็นต้น จุดประสงค์ของการทำพิธีก็เพื่อให้อาคารเหล่านั้นเกิดความถาวรมั่นคงและผู้อาศัยอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป การทำพิธีวางศิลาฤกษ์เช่นว่านี้ ตามประเพณีโบราณมักนิยมตอกไม้เข็มมงคลด้วย ไม้เข็มนั้น ประกอบด้วยไม้มงคล ๙ ชนิด คือ
– ไม้ชัยพฤกษ์ ถือเคล็ดว่ามีโชคชัย
– ไม้ราชพฤกษ์ ถือเคล็ดว่าเป็นใหญ่เป็นโต
– ไม้ทองหลาง ถือเคล็ดว่ามีเงินมีทอง
– ไม้ไผ่สีสุก ถือเคล็ดว่าเกิดความสงบสุข
– ไม้กันเกรา ถือเคล็ดว่าป้องกันภัยอันตรายมิให้เกิดขึ้น
– ไม้ทรงบาดาล ถือเคล็ดว่าบันดาลให้เกิดความร่มเย็น
– ไม้สัก ถือเคล็ดว่าเกิดความศักดิ์สิทธิ์
– ไม้พะยูง ถือเคล็ดว่าพยุงให้เกิดความมั่นคง
– ไม้ขนุน ถือเคล็ดว่าหนุนให้เกิดพลังอานุภาพ
ไม้แต่ละชนิดดังกล่าวทำเป็นท่อนแต่ละท่อนความยาวประมาณ ๑๒ นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้วครึ่ง เสี้ยมปลายให้แหลมเล็กน้อยเพื่อตอกลงดินได้สะดวก (ไม้เข็มมงคลนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้า ที่ขายเครื่องประกอบพิธีหรือร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไป)
ขอบคุณบทความดีๆจาก : ข่าวกองทัพเรือ
ความเห็นถูกปิด