ความเชื่อเกี่ยวกับ ประเพณีให้ทานไฟ

204

ความเชื่อเกี่ยวกับ ประเพณีให้ทานไฟ

ประเพณีให้ทานไฟ ในเดือนยี่ (ราวธันวาคม – มกราคม) มีกระแสลมมรสุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาเอาอากาศหนาวเย็น ทางภาคเหนือและจากทะเลจีนใต้มายังแหลมมลายูตอนเหนือ ทำให้อากาศในภาคใต้รู้สึกหนาวเย็นกว่าปกติด้วย ลางปีหนาวถึงต้องก่อกองไฟในตอนเช้ามืดก็มี

ชาวบ้านจึงร่วมใจกันช่วยเหลือพระสงฆ์ซึ่งได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่ เปลี่ยนแปลงไปนี้ ด้วยการมาช่วยก่อกองไฟให้พระสงฆ์ผิงสร้างความอบอุ่น และถือโอกาสทำขนม ทำอาหารมาถวายพระสงฆ์ไปด้วยกัน เพราะตามปกติชาวบ้านต้องตักบาตรทำบุญกันอยู่เป็นประจำทุกเช้าอยู่แล้ว แต่การทำบุญในโอกาสนี้พระสงฆ์ไม่ต้องออกไปบิณฑบาตท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ลำบาก หากชาวบ้านนัดรวมตัวกันในช่วงวันที่มีอากาศหนาวเย็นมาทำบุญพร้อมกัน ด้วยการก่อกองไฟและทำขนมต่างๆ ถวายให้พระสงฆ์ฉันที่ลานวัด จึงได้เรียกกันว่า “ให้ทานไฟ” คือ การทำบุญด้วยไฟ

ขนมต่างๆ ที่นิยมทำถวายพระสงฆ์คือ ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมกรอก ขนมจู่จุน กล้วยทอด กล้วยแขก ข้าวเหนียวกวนทอด ขนมม้า (รูปร่างคล้ายรังต่อต่างกันที่พิมพ์) ขนมด้วง (คล้ายตัวด้วง) ขนมรังแตนรังต่อ ขนมจำปาดะ ขนมโค ขนมกรุบ ข้าวเกรียบปากหม้อ และอื่นๆ ซึ่งเป็นประเภทนึ่ง – ทอด – เผา ด้วยเตาไฟ อันจะให้ทั้งความร้อนความอบอุ่น และเป็นอาหารกินได้ไปพร้อมกัน โดยแยกก่อกองไฟออกเป็นกองๆ ปูเสื่อนิมนต์พระสงฆ์มานั่งฉันข้างกองไฟนั้นเอง

ทางนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญให้ทานไฟกันเสมอเกือบทุกปี (วัดในเมืองเช่น วัดประดู่ วัดแจ้ง วัดใหญ่ วัดชะเมา) ยกเว้นปีไหนอากาศไม่หนาวเย็นก็อาจงดไปบ้าง แต่ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่และดีงาม น่าศรัทธาที่ถือปฏิบัติต่อกันมาช้านาน

บทความ : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.–กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, 2548.
ข้อมูลโดย : เว็บไซต์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

ความเห็นถูกปิด