ความเชื่อเรื่องการตัดต้อ
การตัดต้อเป็นความเชื่อดั่งเดิมของคนจังหวัดตราด สมัยที่วิทยาการทางการแพทย์ ไม่เจริญเช่นปัจจุบันนี้ จึงได้อาศัยการรักษาโรคต้อกันไปตามที่ได้ถือปฏิบัติกันมา เชื่อว่าตัดแล้วจะหายได้เฉพาะต้อเนื้อ โดยมีวิธีการง่าย ๆ คนที่จะเป็นผู้ตัดต้อได้นั้น จะต้องเป็นลูกคนหัวปี หรือลูกคนสุดท้อง เท่านั้น และได้มีการเรียนจากครูเฒ่าหมอแก่ แต่ระยะหลังวงการแพทย์เจริญมากการตัดต้อแบบนี้เริ่มหายไป ยังเหลือเพียงจำนวนน้อย ในหมู่คนชนบท
เวลาที่ใช้ตัดต้อคือ เวลาเย็นตอนตะวันใกล้ตกดิน มีอุปกรณ์ง่าย ๆ ดังนี้ คือ ทะนาน ตาเดียว เนื้อชิ้นบาง ๆ 3 ชิ้น จะเป็นเนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อไก่ ก็ได้ มีดคม ๆ ก่อนตัดต้อคนไข้จะไปบอกผู้ตัดต้อให้ช่วยรักษา โดยพูดว่า นิมนต์ตัดต้อให้ที….และจะนำเนื้อวางในพาน แล้วเอาทะนานตาเดียวครอบไว้ มีดอกไม้ 3 ดอก เทียน 1 เล่ม เงินค่าครู 6 สลึง หรือ 6 บาท
ใส่ในพาน มีเหล้าขาว 1 ขวด รินใส่แก้ว ตั้งไว้ 1 แก้ว นำสิ่งเหล่านี้ไปตั้งที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา หรือหิ้งบูชาก็ได้ เพื่อทำพิธีบอกครูเฒ่าหมอแก่ว่าจะทำการตัดต้อในเย็นนี้ โดยว่านะโม 3 จบ แล้วสวดชุมนุมเทวดา แล้วจึงนำพานไปทำพิธีตัดต้อต่อไป โดยให้คนไข้ที่มารักษา นั่งบนก้นครกตำข้าวแบบโบราณ หันหน้าไปตามตะวันที่กำลังจะตกดิน คนไข้จะเป็น ผู้ถือพานไว้ คนตัดต้อ จะหยิบทะนานตาเดียวมาครอบข้างที่ไม่ได้เป็นก่อน และนำชิ้นเนื้อ มาวางบนก้นทะนานเอามีดจรดที่ชิ้นเนื้อ และว่าคาถา ดังนี้ คือ “ลูกสุดท้องน้องทั้งหลาย ตัดต้อหายสายต้อขาด สายฟ้าฟาด พุทธังละลาย ธัมมังละลาย สังฆังละลาย พุทธังปัจจุ ปัจจขามิ ธัมมังปัจจุปัจจขามิ สังฆังปัจจุปัจจขามิ แล้วกดมีดตัดที่ชิ้นเนื้อ และเป่าปาก พร้อมกับว่าเพี้ยง สวาหะ “ต้องว่าทุกครั้งที่ตัด จากนั้นก็มาตัดต้อที่ตาข้างที่เป็นต้อ
โดยมีกำหนดการตัดต้อ คือ ต้องตัด 3 เย็น เย็นแรก ตัดเนื้อ 3 ชิ้น เย็นที่สอง ตัดเนื้อ 2 ชิ้น เย็นที่สาม ตัดเนื้อ 1 ชิ้น คนสมัยโบราณเชื่อว่าเมื่อทำแล้วจะหายขาดไม่กลับมาเป็นอีก หากไปลอกกับหมอแผนปัจจุบันจะกลับมาเป็นอีก ต้องไปลอกกันใหม่
ขอบคุณบทความดีๆจาก
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ตราด
ความเห็นถูกปิด