ความเชื่อเรื่องการนับถือผีมเหสักข์ (มเหศักดิ์)
การนับถือผีเป็นประเพณีของชาวอีสานแต่โบราณ ก่อนจะมีการนับถือพุทธศาสนา ชาวอีสานเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษยังคงคอยดูแลให้ความคุ้มครองแก่บุตร หลานอยู่ เพื่อให้บุตรหลานอยู่เย็นเป็นสุข การไหว้ผีมเหสักข์มีปรากฏอยู่ในฮีตสิบสองคองสิบสี่ว่า “เป็นท้าวเป็นพระยาเมื่อถึงเดือนเจ็ดให้บูชาเทพยดาอารักษ์ มเหสักข์หลักเมือง หูเมือง ตาเมืองอย่าขาด บ้านเมืองจึงจะชุ่มเย็นเป็นสุข”
การไหว้ผีมเหสักข์จะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ไปจนสิ้นเดือน 7 เมื่อถึงเวลาจะจัดให้มีการไหว้ผีมเหสักข์ เจ้าภาพจะต้องจัดพาขวัญสูง 9 ชั้น หัวหมู 1 หัวพร้อมด้วยเท้าและหาง ไก่ต้ม 1 ตัว มะพร้าวอ่อน 1 ผล กล้วยสุก 1 หวี อาหารคาวหวาน ผลไม้ พร้อมหมากพลู บุหรี่ ดอกไม้ธูปเทียน
การเลี้ยงผีมเหสักข์จัดให้มีทั้งภาคเช้าและบ่าย ภาคเช้าจะเริ่มเวลาประมาณ 08.00 น. โดยการอัญเชิญมเหสักข์มาเสวยอาหาร ขณะนั้นดนตรีก็จะขับกล่อมลำนำทำนองสีทันดรเลียบโขง เมื่อเห็นว่าสมควรแก่เวลา นางเทียม (คนทรง) ก็จะอัญเชิญมเหสักข์เข้าเทียมเมื่อมเหสักข์เข้าเทียม นางเทียมจะมีอาการตัวสั่น หลังจากนั้นก็ทำพิธีขอขมาเรียบร้อยทุกองค์แล้ว ดนตรีก็เริ่มบรรเลงมีการฟ้อนรำรับขวัญ เรียกว่า สู่ขวัญบายศรี เสร็จแล้วมีการผูกผ้าที่ข้อมือ
ช่วงบ่ายเริ่มประมาณ 14.00 น. จะทำพิธีอัญเชิญมเหสักข์ให้ฟ้อนเบิกดาบ หากดาบหันดาบออกนอกบ้านก็ถือว่าเบิกออกให้นำกระทงบัดพลีไปลอยน้ำ หากดาบยังเบิกไม่ออกต้องฟ้อนไปจนกว่าจะออก เมื่อฟ้อนเบิกดาบออกแล้วทุกคนก็จะลุกขึ้นฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน จนถึงเวลา 16.00 น. มเหสักข์ก็จะเสด็จขึ้น นางเทียมทุกคนหยุดฟ้อนเป็นอันเสร็จพิธี
ข้อมูล:Prapayneethai
ความเห็นถูกปิด