ความเชื่อ ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ตามพระไตรปิฎกและคติความเชื่อต่างๆ
ความเชื่อ ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ตามพระไตรปิฎกและคติความเชื่อต่างๆ
ความเชื่อ ตำนานเรื่องรอยพระพุทธบาททั้ง 5 แห่ง ตามพระไตรปิฎกและคติความเชื่อต่างๆ
วันนี้ผมจะมาเขียนบทความเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาท ที่มีปรากฏในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกและจากบทสวดมนต์ ผมได้เกิดความสงสัยหลายประการในเรื่องของรอยพระพุทธบาท ซึ่งมีมากมายในประเทศไทยและหลายๆประเทศทั่วโลก ผมสงสัยว่ารอยพระพุทธบาทมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่ มีการประทับไว้จริงหรือไม่ จึงได้ค้นหาข้อมูลเรื่องราวมาแบ่งปันกันไว้ที่บทความนี้
จากข้อมูลเรื่องราวที่ผมลองได้ค้นหาจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต ผมจะนำมาสรุปให้ได้ใจความ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจ ทั้งนี้ในประเทศไทยก็จะมีเรื่องราวของรอยพระพุทธบาทมากมาย ถ้าจะกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่คนไทยทั่วประเทศให้ความสนใจเดินทางไปนมัสการก็คงจะกล่าวถึงรอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งคนไทยเดินทางไปร่วมแสน ร่วมล้านคนในแต่ละปี รอยพระพุทธบาทแต่ละแห่งนั้นจะเป็นรอยพระพุทธบาทแท้จริงหรือไม่นั้น ผมไม่สามารถที่จะฟันธงลงไปได้ ขอให้คิดว่าเป็นพุทธานุสติ ในการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าจะดีที่สุด…ซึ่งผมเคยฟังธรรมเทศนาของพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ท่านก็ได้กล่าวไว้เช่นกันเกี่ยวกับเรื่องรอยพระพุทธบาท เป็นเรื่องของพุทธานุสติ ทำให้จิตเป็นกุศล จะแท้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
ตามความเชื่อในพระไตรปิฎกนั้น ถูกกล่าวไว้ในปุณโณวาทสูตร พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 23 (ภาค 3 เล่ม 2) อรรถกถาปัญจสูทนี หน้า 410 (ฉบับมหามกุฏฯ ฉลองพระชนมายุสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ) ซึ่งจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท 2 แห่ง ได้แก่ รอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทา และที่ภูเขาสัจจพันธ์
เรื่องราวคร่าวๆ พอสรุปเนื้อหาในพระไตรปิฎกมีดังนี้
ที่แคว้นสุนาปรันตะ มีพี่น้อง 2 คน คนพี่ชื่อปุณณะ คนน้องชื่อจุฬาปุณณะ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านพานิชคาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านของพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง ครั้งหนึ่งฝ่ายพี่ชายได้บรรทุกเกวียน 500 เล่ม เดินทางไปค้าขายยังเมืองสาวัตถี และตั้งกองเกวียนพักแรมกันใกล้กับวัดพระเชตวันมหาวิหาร ในวันนั้นระหว่างการพักผ่อนกับบริวาร ได้เห็นชาวเมืองสาวัตถี อธิษฐานถืออุโบสถศีล (ถือศีลในวันพระ) และพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวันมหาวิหารเพื่อฟังธรรม
ฝ่ายปุณณะ เห็นชาวเมืองเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงได้เดินทางพร้อมบริารไปฟังธรรมด้วยเช่นกัน จนเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก หลังจากฟังธรรมแล้วเสร็จ ฝ่ายปุณณะจึงเข้าถวายบังคมทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและสาวกเพื่อเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น และหลังจากนั้นเขาจึงยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้น้องชาย เพื่อออกบวช
เมื่อทำการออกบวชแล้ว จึงได้กราบทูลลาพระพุทธเจ้ากลับไปยังบ้านเกิดที่แคว้นสุนาปรันตะ และได้บรรลุอรหันต์ในพรรษาแรก จากนั้นพระปุณณะเถระ ได้ให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลาด้วยไม้แก่นจันทร์แดง ที่วัดมกุลการามเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระปุณณะเถระได้เดินทางไปยังวัดพระเชตวันมหาวิหารเพื่อกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาพักยังสถานที่นี้ และพุทธองค์ก็ได้รับอาราธนา ที่จะเสด็จไปพร้อมคณะพระภิกษุสงฆ์อีก 499 องค์
จากนั้นได้เกิดปาฏิหาริย์ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่พระอินทร์เป็นราชาแห่งเทพ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ได้เกิดร้อนขึ้น พระองค์จึงรู้ทันทีว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จเดินทางไกลถึงแคว้นสุนาปรันตะ จึงได้รับสั่งให้พระวิศวกรรม (ท้าววิษณุกรรม) เนรมิตเรือนยอดทั้งหมด 500 หลัง ถวายแด่พระพุทธองค์และเหล่าภิกษุสงฆ์ที่เสด็จตาม โดยเรือนยอดสำหรับพระพุทธเจ้ามี 4 มุข ของพระอัครสาวก (พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ) มี 2 มุข ส่วนที่เหลือมี 1 มุข
เมื่อท้าววิษณุเนรมิตเรือนยอดครบแล้ว พระพุทธเจ้าและเหล่าภิกษุได้เข้าสู่เรือนยอดทั้งหมด 499 หลัง มีอยู่หลังหนึ่งที่ว่างอยู่ จากนั้นเรือนยอดทั้งหมดได้ลอยขึ้นสู่อากาศเพื่อไปยังแคว้นสุนาปรันตะ เมื่อทรงเสด็จมาถึงเขาสัจจพันธ์ พระพุทธองค์ได้ทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ เพราะทราบวาระจิตของฤาษีดาบสตนหนึ่ง ชื่อสัจจพันธ์ฤาษี ที่ภูเขาแห่งนี้ว่าสามารถจะบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ได้ ดังนั้นแล้วพระพุทธองค์จึงได้เสด็จลงไปยังเขาสัจจพันธ์และแสดงธรรมแก่ฤาษีดาบสนั้นจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้เข้าสู่เรือนยอดที่ว่างอีกหลังหนึ่ง เพื่อไปยังแคว้นสุนาปรันตะ
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จพร้อมเหล่าภิกษุ 500 องค์ มาถึงหมู่บ้านพานิชคาม เหล่าพ่อค้าทั้งหลายได้ร่วมกันถวายมหาทานแก่เหล่าภิกษุและพระพุทธเจ้า จากนั้นได้ไปยังวัดมกุลการาม และได้เสด็จเข้าสู่ศาลาไม้จันทร์แดงที่ได้สร้างถวายไว้ เหล่าพ่อค้าได้เข้าฟังธรรมจนบรรลุธรรมไปอย่างมาก
พระพุทธองค์ได้ประทับที่วัดมกุลการาม นาน 3 วัน จึงได้ตรัสต่อพระปุณณะเถระ ให้อยู่ที่นี่เพื่อนำพระธรรมแสดงต่อผู้คนที่ยังไม่รู้อีกมากมาย และพระองค์ก็ได้เสด็จกลับพร้อมภิกษุ 500 รูป มาถึงแม่น้ำนัมมทานที เมื่อถึงริมฝั่งแม่น้ำ ได้พบกับนัมมทานาคราชที่ได้ถวายการต้อนรับแก่พระพุทธองค์ และนาคราชได้ทูลขอพระพุทธองค์ประทานสิ่งที่ให้ระลึกบูชา พระองค์จึงได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ไว้แทนพระองค์
จนกระทั่งพระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงเขาสัจจพันธ์ ได้ทรงรับสั่งให้พระสัจจพันธ์เถระให้อยู่ ณ ที่เขาสัจจพันธ์แห่งนี้เพื่อแสดงพระธรรมและเผยแพร่ธรรมแก่เหล่าชนที่ยังไม่ถึงธรรม ดังนั้นพระสัจจพันธ์เถระ จึงได้ทูลขอสิ่งที่จะพึงระลึกถึงพระพุทธองค์… พระองค์จึงได้ประทานประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนแผ่นหิน ณ เขาสัจจพันธ์ และได้เสด็จกลับถึงวัดพระเชตวันมหาวิหาร…
จากเรื่องราวในพระไตรปิฎก จึงถือได้ว่าความเชื่อเรื่องรอยพระพุทธบาทจะปรากฏอยู่ 2 แห่ง คือ ที่เขาสัจจพันธ์ และ ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที
Faiththaistory.com : เครดิตข้อมูลและภาพ
ความเห็นถูกปิด