ตำนานเรื่องเล่าไทย ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด

120

ตำนานเรื่องเล่าไทย ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด

ตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวถึงเมืองใหญ่เมืองหนึ่งที่มีชื่อว่า เมืองจำปากนาคบุรี ที่เมืองแห่งนี้มีพญาพรหมทัต เป็นพญาผู้ครองเมือง มีมเหสีชื่อว่าพระนางจันทาเทวี มีลูกสาวชื่อว่า นางแสนสี และมีหลานชื่อว่า นางคำแพง

นางแสนสีและนางแสนสีได้ชวนกันไปเล่นน้ำที่ทะเลหลวงอันแสนกว้างใหญ่ที่ในปัจจุบันก็คือทุ่งกุลาร้องไห้นั่นเอง ระหว่างการไปเที่ยวก็มีจ่าแอ่น เป็นผู้อารักขาไปด้วยตลอดทาง

กล่าวถึงชายหนุ่มสองคนที่มีชื่อว่า ท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ทั้งสองได้ร่ำเรียนอาคมกับพระฤาษีที่ป่าหิมพานต์จนสำเร็จการศึกษา ระหว่างเดินทางกลับบ้านเมืองของตน ก็ได้มากับฝั่งทะเลหลวงที่ไม่มีเรือพอจะให้ข้ามไปได้ ทั้งสองใช้คาถาเป่าฟางให้เป็นเรือสำเภาเพื่อนั่งข้ามทะเลมา และนั่งฟังเสียงคลื่นด้วยความสุขใจ

ตำนานเรื่องเล่าไทย ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด

ส่วนนางแสนสี นางคำแพง กับจ่าแอน ที่ไปเล่นน้ำในแม่น้ำทะเลหลวง ก็ได้พบเจอกับท้าวฮาดคำโปงและท้าวทอน ที่ล่องสำเภาผ่านมาพอดี ความรักจึงบังเกิดขึ้น ในเวลาต่อมา นางแสนสีและนางคำแพงจึงตกลงปลงใจขึ้นสำเภาหนีไปด้วยกัน

เมื่อพญาพรหมทัตผู้เป็นพ่อทราบข่าวจากนายทหารว่า ลูกสาวของตนถูกลักพาตัวหนีไป จึงได้ไปบอกพญานาคแห่งเมืองจำปากนาคบุรี ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนในเมืองได้อยู่กันอย่างสงบสุข ให้มาช่วยเหลือ

พญานาคเห็นว่าหากไม่ต้องการให้สำเภาแล่นต่อไปได้ ก็ต้องทำให้น้ำทะเลให้เหือดแห้ง ว่าแล้วจึงจัดการดูดน้ำทะเลออกจนหมด เมื่อทะเลแห้งไปแล้ว ท้าวฮาดและท้าวทอนจึงได้พานางแสนสีและนางคำแพงพร้อมด้วยจ่าแอ่นเดินทางเท้าต่อไปจนถึงบ้านแห่งหนึ่งและพักอาศัยกันอยู่ที่นั่น บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านแสนสี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย

จากนั้นจึงได้เดินทางรอนแรมกันต่อไปจนมาถึงริมป่าลำธารแห่งหนึ่ง พวกเขาได้ข้ามลำธารไปยังโนนบ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่ระหว่างทาง จ่าแอ่นเกิดความเมื่อยล้าจึงไม่ขอเดินทางติดตามไปกับนางแสนสีและนางคำแพงด้วย แต่กลับขอพักอาศัยอยู่ที่บ้านแห่งนั้นต่อจนถึงแก่ชีวิตในที่สุด ชาวบ้านได้ช่วยกันฝังร่างไร้วิญญาณของจ่าแอ่นไว้ ณ บ้านแห่งนั้นและตั้งชื่อว่าบ้านจ่าแอ่น ซึ่งปัจจุบันคือบ้านแจ่มอารมณ์ อำเภอเกษตรวิสัย

สี่คนที่เหลือเดินทางต่อไปจนมาถึงเขตป่าดง ด้วยความรักที่มีต่อนางแสนสีผู้หญิงคนเดียวกัน ท้าวฮาดคำโปงกับท้าวทอนจึงได้ต่อสู้กันเอง จนในที่สุด ท้าวฮาดคำโปงก็ถูกท้าวทอนฆ่าตายที่กลางทุ่ง และได้เรียกหมู่บ้านแห่งนั้นว่าบ้านฮาด ซึ่งต่อมาเป็นบ้านฮาด อำเภอเกษตรวิสัย

ด้วยความอาฆาต วิญญาณของท้าวฮาดจึงกลับมาล้างแค้นท้าวทอน โดยได้กลายมาเป็นผีโป่ง (ผีหัวแสง) เพื่อตามไล่ล่าท้าวทอน จนท้าวทอนต้องพานางแสนสีและนางคำแพงหนีไปทางตะวันตกซึ่งขณะนั้นเป็นทุ่งกว้างใหญ่ และด้วยความอ่อนเพลียจากการเดินทาง ทั้งสามจึงได้นอนหลับไปใต้ต้นไม้ใหญ่ ท้าวทอนและนางแสนสีตื่นขึ้นมาก่อน และปล่อยให้นางคำแพงเหลืออยู่เพียงผู้เดียว ทุ่งบริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกต่อมาว่า ทุ่งป๋าหลาน ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอพยัคฆภูมิพิสัย

เมื่อพระอินทร์ส่องญาณวิเศษตรวจตราโลกมนุษย์ และได้พบเห็นท้องทะเลหลวงที่เคยเต็มไปด้วยน้ำ กลับแห้งเหือด และเต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตมากมายทั้งปลา หอย และกุ้ง นอนตายเน่าเหม็นคละคลุ้ง จึงได้บอกให้นกอินทรีย์ลงมากินซากสัตว์ในทะเลหลวงแห่งนี้ นกอินทรีย์ได้ถ่ายมูลออกเป็นก้อนขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ขี้นกอินทรีย์

เมื่อนกอินทรีย์จัดการซากทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็ไปทูลขอรางวัลจากพระอินทร์ พระอินทร์จึงก็ให้ช้างไว้เป็นอาหาร นกอินทรีย์ทั้งหลายพากันแย่งชิงช้าง บางตัวก็คาบหัวช้างไปกินแล้วทิ้งหัวไว้กลายเป็นป่าดง จนต่อมาบริเวณแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ดงหัวช้าง ซึ่งกลายมาเป็นบ้านหัวช้างในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมานในปัจจุบัน ส่วนบางตัวก็คาบได้เท้าช้างไปกินแถวดงแห่งหนึ่ง จนกลายเป็นที่มาของชื่อ ดงเท้าสาร หรือที่เรียกว่าเขตอำเภอสุวรรณภูมิในปัจจุบัน ส่วนเขตดงช้างที่มีช้างมากมาย ปัจจุบันก็กลายมาเป็นบ้านดงช้าง ในอำเภอปทุมรัตต์นั่นเอง

เมื่อหนีมาได้ ท้าวทอนและนางแสนสีก็เดินทางกลับไปยังเมืองจำปากนาคบุรี แต่ก็กลับมาพบแต่เมืองร้างที่ไร้ผู้คน เนื่องจากประชาชนกลัวนกอินทรีย์จึงพากันย้ายหนีออกไป ส่วนพญานาคก็ได้ดำดินหนีไปอยู่ที่ดินแดนที่ไกลออกไปจากเขตแม่น้ำโขง

ฝ่ายพญาพรหมทัตกับนางจันทราเทวีก็ตรอมใจตายด้วยความคิดถึงลูก เมื่อท้าวทอนและนางแสนสีสามารถรวบรวมไพร่พล และประชาชนที่เหลืออยู่ได้กลุ่มหนึ่ง ก็พากันบูรณะสร้างเมืองจำปากนาคบุรีขึ้นมาใหม่ และร่วมกันสร้างพระธาตุพันขันขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับบิดาและมารดา รวมถึงเพื่อไถ่บาปให้กับตนเองด้วย ต่อจากนั้น ทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันและครองเมืองอย่างมีความสุขจนสิ้นชีวิต

ที่มา : https://www.tumnandd.com/ทุ่งกุลาร้องไห้-จ-ร้อยเอ/

ความเห็นถูกปิด