ทวดจระเข้ กับคติทางความเชื่อในแบบไทยถิ่นใต้
จระเข้(crocodile) คำๆนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 290 อธิบายความหมายเอาไว้ว่า “จระเข้(จอระ-) น. ชื่อสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ในวงศ์ Crocodylidae อาศัยบริเวณปากน้ำ หนังเป็นเกล็ดแข็งปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูกเรียกว่า ก้อนขี้หมา หางแบนยาวใช้โบกว่ายน้ำ มักหากินในน้ำ ในประเทศไทยมี 3 ชนิดคือ
1.จระเข้บึง จระเข้น้ำจืด หรือจระเข้สยาม(crocodylus siamensis)
2.จระเข้อ้ายเคี่ยม หรือจระเข้น้ำเค็ม(c. porosus)
3.จระเข้ปากกระทุงเหว หรือตะโขง (tomistoma schlegelii) ,ตะเข้ หรือ อ้ายเข้ ก็เรียก,อีสานเรียก แข้,ปักษ์ใต้เรียก เข้”
สวนสัตว์สงขลา อธิบายความหมายและรูปลักษณะของจระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้อ้ายเคี่ยม ว่า “จระเข้น้ำเค็ม ชื่อสามัญ salt-water crocodile ส่วนชื่อ วิทยาศาสตร์ของจระเข้น้ำเค็มเรียกว่า crocodylus porosus ปากมีลักษณะเรียวยาวไม่มีเกล็ด 4 เกล็ดบนท้ายทอย ขนาดยาวเฉลี่ยประมาณ 5.50 เมตร น้ำหนักประมาณ 600 กิโลกรัม สีลำตัวค่อนไปทางสีเหลืองอ่อน มีนิสัยดุร้ายและเป็นอันตรายต่อคน
จัดเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หากโตเต็มที่จะยาวประมาณ 9 เมตร ถิ่นอาศัยบริเวณน้ำ กร่อยแถวปากแม่น้ำ ป่าชายเลนซึ่งเป็นน้ำนิ่งและลึกพอประมาณ พบกระจายตั้งแต่ชายฝั่งทะเลทางตะวันออกของอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ส่วนอาหารของจระเข้น้ำเค็มคือ จระเข้ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมูป่า สมเสร็จ เป็นต้น”
จระเข้ คือสัตว์ขนาดกลาง เป็นสัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนไทยเราทุกยุคทุกสมัยรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะจระเข้ร้ายที่ชื่อ “ชาละวัน” อันเป็นตัว เด่นในเรื่อง “ไกรทอง” ซึ่งชาละวันนี้เองเป็นจระเข้ที่สามารถแปลงกายให้เป็นคนก็ได้ จัดเป็นจระเข้เจ้าที่ฤทธิ์มาก
แต่ถึงจะมีฤทธิ์มากอย่างไรเสียก็มาพ่ายแพ้ให้แก่ความ เก่งกล้าสามารถของ “ไกรทอง” หมอจระเข้หนุ่มฝีมือดีเมืองพิจิตรอันเป็นพระเอกในเรื่อง นอกจากชาละวันแล้วจระเข้ที่มีผู้นิยมกล่าวถึงมากอีกตัวหนึ่งก็คือ “ไอ้ด่างเกยชัย” หรือ “ไอ้ด่างคลองบางมุด” อันเป็นจระเข้ขนาดยักษ์ ออกอาละวาดไล่กัดกินคนเป็นอาหารในช่วงปี พ.ศ.2507 ในพื้นที่คุ้งน้ำละแวกคลองบางมุด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
ไอ้ด่างคลองบางมุดเป็นจระเข้ที่ชาญฉลาดมันรู้ว่าเมื่อไรควรออกล่าและเมื่อไรควรหลบหนี ชาวบ้านคลองบางมุดถึงกับขนานนามให้มันว่า “จระเข้ปีศาจ” หรือ “จระเข้ผีสิง” เลยทีเดียว
ในหนังสือ “ชีวิตสัตว์ป่านานาชนิด” ของ “ตัณติมา ประภาวิชัย” หน้า 78-81 ได้กล่าวอ้างถึงนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เมริกัน ว่า “เมริกันได้กล่าวว่าจำพวกจระเข้มีด้วยกัน 6 ชนิดคือ
1.อัลลิกาเตอร์(alligator)
2.ไกมัน(caiman)
3.โกรโกได ลัส(crocodiles)
4.โอสติโอเลมัส(osteolemus)
5.กาไวเอลิส(cavialis)
6.โตมิสโตมา(tomistoma)
จระเข้ในเมืองไทยเป็นแบบโกรโกได เนื่องด้วยมีความยาวของกระดูกกรามได้ 1 เท่าครึ่ง ขนาดกว้างของต้นกรามประเภทหนี่ง และอีกประการหนึ่งนั้นเขี้ยวยาวของมันพ้น ขึ้นไปเหนือกรามข้างบน โดยเฉพาะจระเข้ที่อาศัยอยู่ตามปากน้ำรอยต่อของทะเลจะมีขนาดใหญ่ที่สุดคือยาวถึง 20 ฟุตเลยทีเดียว”
ทวด(tuad) หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งชาวไทยถิ่นใต้และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอันเรียกตนเองว่า “ไทยสยาม” ให้ความเคารพนับถือเป็นประหนึ่งผีบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อันนำมาสู่ความเจริญงอกงาม
ในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้พุทธศักราช 2525 หน้า165 ได้ให้ความหมายของคำว่าทวดว่า “ทวด หมายถึง
1.พ่อ แม่ ของปู่ ย่า ตา ยาย,บรรพบุรุษ หรือผู้ มีบุญวาสนาที่ล่วงลับไปแล้ว
2.สัตว์ที่มีอายุมาก ตัวใหญ่ หรือมีลักษณะพิเศษเชื่อว่าเป็นพญาสัตว์ ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น จระเข้ทวด งูทวด ช้างทวด เสือทวด เป็นต้น” นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง “ศึกษาพัง ในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา” หน้า 64 ของ “ทรงพรรณ สังฆะโต” ยังได้ อธิบายความหมายของคำว่าทวดไว้เพิ่มเติมว่า “ทวด หมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเชื่อถือ เช่น ภูติผีปีศาจ
เทวดา โดยมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะสามารถดลบันดาลให้เกิดความสุขหรือทุกข์ภัยแก่มนุษย์ได้หากผู้ใดปฏิบัติได้ถูกต้อง ความเคารพต่อสิ่งที่ตนเองนับถือก็จะ เกิดผลดี แต่หากผู้ใดดูหมิ่นหรือล่วงละเมิดก็จะดลบันดาลให้เกิดผลร้าย”
“ทวดจระเข้” หรือ “จระเข้ทวด” จัดเป็นทวดในอีกรูปลักษณะหนึ่ง เป็นประเภททวดครึ่งเทวดาครึ่งสัตว์ ซึ่งในคติทางความเชื่อในแบบไทยถิ่นใต้ล้วน เชื่อกันว่าเป็น
“จระเข้ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “เข้เจ้า” (จระเข้เจ้า) อันมีดวงวิญญาณของบรรพชนสถิตอยู่ มีอำนาจที่จะสามารถให้คุณแก่ผู้ทำการสักการบูชาและให้โทษแก่ผู้ทำการลบหลู่ดูหมิ่นได้ เป็นต้น
รูปลักษณะของทวดจระเข้
จากคำเล่าลือรวมถึงตำนานชาวบ้านเล่าปากต่อปากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ทวดจระเข้มีลักษณะเป็นจระเข้ใหญ่ มีดวงตาเป็นสีแดงสุก หากได้จ้องมองในยามค่ำ คืนจะดูคล้ายเปลวไฟสองดวงลุกไหม้แลดูน่าเกรงขาม
ทวดจระเข้มีลักษณะของส่วนลำตัวที่ใหญ่และยาวมากตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ชาวเลในจังหวัดสงขลาว่า ทวด หัวเขาแดง ที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่นั้นมีลักษณะที่ใหญ่มากพอๆกับเรือหาปลา
แต่ครั้งพอจ้องมองดูไปนานๆเข้าทวดก็จะหายไปกับความมืด นอกจากนี้ในตำนาน ของทวดเรียม หรือทวดคลองนางเรียมซึ่งเป็นทวดที่แสดงอยู่ในรูปของจระเข้ใหญ่ด้วยเช่นเดียวกันนั้นก็ปรากฏว่าเป็นจระเข้ที่มีขนาดใหญ่มากโดยมีความยาวจากหัวจรด ปลายหางเท่ากับความกว้างของคลองนางเรียมพอดี
จึงพอสรุปได้ว่ารูปลักษณะของทวดจระเข้นั้นจะมี 2 สิ่งที่แตกต่างจากจระเข้โดยทั่วไปคือ
1.ทวดจระเข้มีขนาดใหญ่กว่าจระเข้ในแบบธรรมดามาก
2.ทวดจระเข้มีดวงตาเป็นสีแดงสุกคล้ายเปลวไฟลุกไหม้
อายุของทวดจระเข้
ในเรื่องอายุของทวดจระเข้หรือจระเข้ทวดนี้ดูจะคล้ายๆกันกับงูทวดกล่าวคือ เนื่องด้วยชาวไทยถิ่นใต้ล้วนมีคติทางความเชื่อว่าเมื่อเกิดเป็นทวดจระเข้ แล้วก็จะดำรงคงเป็นทวดจระเข้ตลอดไป
ดวงวิญญาณไม่มีวันดับสลายหรือแตกสลายหายไปแต่ประการใด อายุของทวดจระเข้ก็จะเพิ่มทวีขึ้นไปเรื่อยๆไม่มีวันแตกดับและยัง คงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยถิ่นใต้ให้ความเคารพสักการบูชาเรื่อยมาจวบจนยุคปัจจุบัน
ถิ่นที่อยู่ของทวดจระเข้
สำหรับในเรื่องถิ่นที่อยู่หรือที่สถิตของทวดจระเข้นี้ก็ปรากฏเป็นคติทางความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
เชื่อว่าทวดหัวเขาแดง สถิตอยู่ในบริเวณทะเลปากน้ำเมืองสงขลา
ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดคลองนางเรียม สถิตอยู่ในบริเวณคลองนางเรียม
ชาวบ้านตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เชื่อว่าทวดแหลมจาก สถิตอยู่ในบริเวณถ้ำใหญ่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 อันถือเป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์
ชาวบ้านบริเวณควนท่าข้าม หรือ ควนพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อว่าทวดท่าข้าม หรือ พญาท่าข้าม สถิตอยู่ในบริเวณควนท่าข้าม และในแม่น้ำตาปี หรือ แม่น้ำหลวง เป็นต้น
ทวดจระเข้ อำนาจความศักดิ์สิทธิ์และการบวงสรวงบูชา
เป็นความเชื่อเฉพาะถิ่นใต้ว่าการบูชาทวดจระเข้จะก่อให้เกิดโชคลาภนานับประการ อาทิ คนที่มีอาชีพหาของป่าหากบูชาทวดจระเข้ก็เชื่อว่าจะทำให้หา ของป่าได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิม คนที่ออกทะเลหาปลาหากบูชาทวดจระเข้ก็จะทำให้สามารถหาปลาได้ในปริมาณที่มากกว่าเดิมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทวด จระเข้จะช่วยคุ้มครองและปกป้องให้แคล้วคลาดจากอันตรายต่างๆนานารอบด้าน ส่วนการบวงสรวงบูชาทวดจระเข้นั้นก็มีความเชื่อที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้างออกไปใน แต่ละพื้นที่ กล่าวคือ
ชาวบ้านตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จะทำกรบวงสรวงบูชาทวดหัวเขาแดงด้วยการลอยหมากพลู หรือจุดประทัด
ชาวบ้านตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำการบวงสรวงบูชาทวดคลองนางเรียมด้วยการลอยหมากพลูลงในคลองนางเรียม แต่ไม่ปรากฏ ว่ามีการจุดประทัดแต่ประการใด
ส่วนการบูชาทวดจระเข้ในสถานที่อื่นๆนิยมการตั้งเครื่องเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน หมากพลู ข้างตอกดอกไม้แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคลไป
ข้อมูล
http://www.siamsouth.com
ความเห็นถูกปิด