“นาคานคร” หนองคาย-บึงกาฬ เปิดตำนานพญานาค ตอนที่ 1

101

“นาคานคร” หนองคาย-บึงกาฬ เปิดตำนานพญานาค ตอนที่ 1

 

หนึ่งในเทศกาลท่องเที่ยวช่วงวันออกพรรษาที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง คงต้องยกให้กับ “เทศกาลออกพรรษา บั้งไฟพญานาค” ที่จะมีลูกไฟสีส้มอมแดงพุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขงในช่วงวันออกพรรษา

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าบั้งไฟดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยฝีมือพญานาคจริงหรือไม่ แต่ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคนั้นอยู่คู่กับคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานาน บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมบั้งไฟพญานาคจึงขึ้นให้เห็นมากที่สุดเฉพาะในจังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬ (ซึ่งในอดีตเคยเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย) เหตุผลหนึ่งนั่นก็เพราะมีความเชื่อว่า บริเวณนี้เป็น “นาคานคร” หรือ “เมืองพญานาค” นั่นเอง

หนังสือ “หนองคายคมเลนส์” กล่าวถึงเรื่องของพญานาคไว้ว่า ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูโบราณ มีความเชื่อสืบเนื่องกันมานานหลายพันปีว่า พญานาคเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์เบื้องบน เช่นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่สร้างเป็นบันไดพญานาคราช ซึ่งทอดตัวยาวเพื่อรับมวลมนุษย์ไปสู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับลัทธิพราหมณ์ที่มีความเชื่อว่าพญานาคคือเทพเจ้าแห่งสายน้ำ

พญานาคมีความผูกพันแนบแน่นกับพระพุทธศาสนา

ชาวอินเดียเป็นชนชาติแรกที่ได้รวบรวมความเชื่อเรื่องพญานาคเข้ามาเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา โดยแทรกอยู่ในทศชาติชาดกและพุทธประวัติหลายบทหลายตอน เช่น เชื่อว่าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเคยเสวยชาติเป็นพญานาคมาก่อน

เช่นเดียวกับชาวเอเชียในเกือบทุกประเทศ ที่เชื่อว่าพญานาคและมังกรถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังและอำนาจสูงส่งเหนือมนุษย์ เช่นเดียวกับชาวอีสานบ้านเราที่เชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าแห่งบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ โดยบั้งไฟของชาวอีสานที่สร้างขึ้นในงานประเพณีบุญเดือนหกทุกบั้ง มักจะถูกรังสรรค์เป็นรูปลักษณ์และลวดลายแห่งพญานาคทั้งสิ้น เพื่อจุดส่งขึ้นไปบอกกล่าวแก่พญาแถนบนสรวงสวรรค์ ให้ช่วยดลบันดาลประทานสายฝนและความช่ำชื่นชุ่มเย็นลงมาให้แก่มวลมนุษย์

เชื่อกันว่า พญานาคเป็นงูขนาดใหญ่ที่มีหงอนสีทองอยู่บนหัว มีดวงตาสีแดง ตลอดลำตัวมีเกล็ดเหมือนปลา เกล็ดจะมีหลากหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี เช่นสีเขียว สีดำ หรือบางตนมีเกล็ดถึง 7 สี เหมือนกันสีของสายรุ้ง นอกจากนั้น พญานาคยังมีพิษร้ายถึง 64 ชนิด และจะต้องคายพิษทุก 15 วัน สัตว์มีพิษอื่นๆ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ฯลฯ ต่างได้รับอานิสงส์ความมีพิษมาจากพญานาคแทบทั้งสิ้น

บันไดนาคหัวช้างเผือกที่วัดราชโพนเงิน
บันไดนาคหัวช้างเผือกที่วัดราชโพนเงิน

ความเชื่อในเรื่องของพญานาคเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น ในพุทธประวัติกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปประทับใต้ต้นจิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วัน ในขณะนั้นมีฝนตกพรำตลอดทั้งวัน และได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์เข้ามาเฝ้าพระองค์ ขนดตัว 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกป้องพระองค์ไว้เพื่อกันฝนและลมมิให้มาถูกพระวรกายของพระองค์ เมื่อฝนหายแล้ว พญานาคมุจลินทร์ได้คลายลำตัวออก แปลงร่างเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ด้วยความศรัทธา

จากตำนานดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกในเวลาต่อมา โดยสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่พระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่บนตัวพญานาคที่แผ่พังพานราวกับผู้คุ้มครองพระศาสดานั่นเอง

อีกหนึ่งพุทธประวัติที่เกี่ยวกับพญานาคเล่าว่า มีพญานาคตนหนึ่งได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงแปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชเป็นพระภิกษุกับพระองค์จนสำเร็จ แต่วันหนึ่งเมื่อจำวัดแล้วได้กลายร่างคืนกลับเป็นพญานาค ภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้าจึงไปทูลแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาครูปนั้นลาสิกขา และให้ลงไปบำเพ็ญเพียรรอบวชในยุคพระศรีอาริยเมตตรัย นาคตนนั้นผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า “นาค” ไว้เพื่อเรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อไป เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน

แก่งอาฮงบริเวณกลางแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือปากถ้ำฝั่งลาวที่มีการสร้างเจดีย์ครอบไว้
แก่งอาฮงบริเวณกลางแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือปากถ้ำฝั่งลาวที่มีการสร้างเจดีย์ครอบไว้

 

ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9550000132136

ความเห็นถูกปิด