ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าที่สืบทอดมานาน กว่า 2,700 ปี

97

ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่าที่สืบทอดมานาน กว่า 2,700 ปี

ประเพณีโล้ชิงช้าจัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพรรณที่จะเก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจาพืชไร่พืชสวนต่างๆ ที่ปลูกลงไปพร้อมที่จะได้ผลผลิตแล้ว โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” ซึ่งมีความหมายว่า ประเพณีโล้ชิงช้ามีอาหารหลากลาย และสมบูรณ์นั่นเอง ชาวอาข่าได้สืบทอดประเพณีนี้มาเป็นเวลา 2,700 กว่าปีแล้ว

ประเพณีโล้ชิงช้าชาวไทยภูเขาเผาอาข่า จังหวัดเชียงรายประเพณีโล้ชิงช้าชาวไทยภูเขาเผาอาข่า จังหวัดเชียงราย

ซึ่งในปัจจุบันประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน ตรงกับช่วงที่ผลผลิต กำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อ่าข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอ่าข่าอีกมากมาย และจัดทั้งหมดเพียง 4 วัน คือ

วันที่ 1″ จ่าแบ”
ผู้หญิงอาข่าอาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือถ้าแม่บ้าน ไม่อยู่อาจเป็นลูกสาวไปแทนก็ได้ ก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ่าข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ” การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียดโดยก่อน ที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะมีการ ตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธีเช่นกัน

วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า
เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ “โจว่มา” ผู้นำศาสนา เพื่อจะปรึกษา และแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า “หล่าเฉ่อ” ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย โจว่มา ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้ หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้าน ของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี

วันที่ 3 “วัน ล้อดา อ่าเผ่ว”
วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมี การอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า

วันที่ 4 “จ่าส่า”
สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บเชือกของชิงช้า โดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า

ที่มา : https://travel.mthai.com/blog/97773.html
ขอบคุณข้อมูล และภาพจาก http://suvarnabhumiairport.com/th/festivals/21/ประเพณีโล้ชิงช้าชาวอาข่า

ความเห็นถูกปิด