พระร่วงวาจาสิทธิ์ – ขอมดำดิน – เดโชดำดิน! ตำนาน – พงศาวดาร หรือ นิทาน !! (ตอน 4)

117

พระร่วงวาจาสิทธิ์ – ขอมดำดิน – เดโชดำดิน! ตำนาน – พงศาวดาร หรือ นิทาน !! (ตอน 4)

 

พระเจ้ากรุงกัมพูชาเห็นตารางบนเกวียนใส่น้ำมาได้ก็แปลกพระทัย เมื่อไต่ถามก็ได้ความพระร่วงผู้เป็นภิกษุสั่งให้ทำเช่นนั้น ทรงวิตกว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่งนัก จึงรับสั่งว่าต่อไปเมืองสุโขทัยมิควรเอาน้ำมาส่งแก่เรา จงเอาน้ำไปถวายพระภิกษุรูปนั้นเถิด จะได้เป็นกุศลแก่เรา

ขอมดำดินที่วัดตระพังทอง สุโขทัย

แต่กระนั้น เจ้ากรุงกัมพูชาก็เห็นว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีปัญญาหลักแหลม และยังมีบุญญาธิการสูง ต่อไปคงต้องแข็งเมืองแน่ จึงคิดที่จะฆ่าเสีย ทรงให้สืบเสาะจนหาได้คนที่มีวิชาความรู้วิเศษไปกำจัดพระร่วงไปโผล่ที่วัดมหาธาตุซึ่งพระร่วงทรงผนวชอยู่ พบพระร่วงกวาดวัดอยู่ใกล้วิหารลานพระเจดีย์ แต่ไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงหันมาเห็นบุรุษผู้เก่งกล้าของกัมพูชาผุดจากดินขึ้นมาครึ่งตัว จึงกล่าววาจาสิทธิ์ว่า ท่านจงอยู่ที่นี่เถิด ว่าแล้วก็เดินจากไป บุรุษที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาส่งมาจะโผล่ขึ้นจากดินอีกก็ไม่ได้ จะดำลงไปอีกก็ไม่ได้ ร่างจึงแห้งแข็งเป็นหินอยู่ตรงนั้น
พระร่วงเห็นว่าศีลของตนไม่บริสุทธิ์แล้วจึงลาสิกขา และกราบทูลพระราชบิดาขอไปสร้างเมืองใหม่ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงทรงให้ไปสร้างเมืองขึ้นที่เมืองเก่าชื่อสัชนาลัย อยู่ริมแม่น้ำปาฬอกนที เชิงเขาสัชนาลัย ซึ่งพระฤาษีสัชนาลัยดาบส พระอัยกาทวด เป็นผู้สร้างไว้ก่อน และให้ชื่อเมืองนี้ว่า สวรรคโลก

พระร่วงได้พูนดินเป็นถนนกว้าง ๙ วา จากเมืองสุโขทัยไปเมืองสัชนาลัย เป็นระยะทาง ๔ โยชน์เศษ แล้วเอาเปลือกเม็ดมะขามคั่วซึ่งเสวยเนื้อจนหมดแล้ว โปรยไปสองข้างถนน กล่าวด้วยวาจาสิทธิ์ว่า เปลือกเม็ดในมะขามจงเป็นต้นมะขามเถิด เปลือกเม็ดมะขามก็งอกเป็นต้นมะขามเหมือนเพาะด้วยเม็ดดิบ เป็นต้นมีใบ ดอก ฝัก แต่ไม่มีเม็ดใน สร้างเมืองใหม่เสร็จภายใน ๔ เดือน จากนั้นพระร่วงเจ้าก็ครองราชย์อยู่ที่เมืองสวรรคโลกสืบไป

ครั้นต่อมาใน พ.ศ.๑๘๐๐ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสวรรคต พระร่วงจึงเสด็จมาครองเมืองสุโขทัย ทรงพระนามว่า พระร่วงบรมราชาธิราช แล้วให้พระอนุชาต่างมารดา ซึ่งพระราชทานนามว่า พระศรีธรรมราชา ไปครองเมืองสวรรคโลก

อยู่มาวันหนึ่ง พระร่วงบรมราชาธิราชได้เสด็จไปเมืองสวรรคโลก ทอดพระเนตรเห็นกุฏิวิหารผุคร่ำคร่าหักพังเป็นอันมาก จึงปรึกษาพระอนุชาว่า พระองค์จะเสด็จไปเมืองมคธ คือเมืองจีน ขอช่างทำถ้วยชามของพระเจ้ากรุงจีนมาทำถ้วยชามที่เมืองเรา แล้วจะได้ทำกระเบื้องมุงหลังคากุฏิวิหารเหล่านี้ด้วย พระอนุชาเห็นดีเห็นชอบและขอตามเสด็จไปด้วย

ทั้งสองพระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งฝ่าคลื่นมหาสมุทรไปถึงเมืองมคธราฐ พอดีกับพระโหราแห่งราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนถวายคำทำนายว่า จะมีข้าศึกมายึดพระนครในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากรุงจีนตกพระทัย รับสั่งให้เสนาโยธาทวยหาญมาประจำประตูหอรบทั้งนอกและในเป็นจำนวนแสน

ครั้นถึงเวลา สมเด็จพระร่วงเจ้ากับพระอนุชาก็เสด็จไปถึง จึงให้ราชบุรุษรักษาเรือไว้ แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนเพียงสองพระองค์ เหล่าทหารที่เฝ้าหอรบทั้งนอกและในเห็นสองกษัตริย์พระราชดำเนินมาก็บังเกิดความกลัว ปล่อยให้เข้าไปถึงท้องพระโรง

พระเจ้ากรุงจีนเห็นสองกษัตริย์เข้ามาถึงพระองค์ก็ทรงตกพระทัยจะถวายบังคม พระร่วงจึงรีบห้ามไว้ และว่าพระองค์มาจากเมืองสุโขทัย ปรารถนาจะขอช่างทำถ้วยชามและกระเบื้องไปทำที่เมืองสุโขทัย พระเจ้ากรุงจีนทรงทราบว่าเป็นพระร่วงที่เคยได้ข่าวจากพ่อค้าวาณิชเลื่องลือถึงเรื่องวาจาสิทธิ์มาแล้ว ก็บังเกิดความชื่นชมโสมนัส มีพระราชดำริที่จะยกราชสมบัติและพระราชธิดาแก่พระร่วงเจ้า

พระร่วงได้ฟังดังนั้นก็ขอเสี่ยงทายด้วยการตัดศีรษะรูปพระราชสีห์ ว่าถ้าหัวพระราชสีห์ตกที่เมืองใด ก็จะยอมเสวยราชสมบัติที่เมืองนั้น พลันที่ฟาดพระแสงขรรคาวุธ รูปพระราชสีห์ขาดกลางตัว ส่วนศีรษะก็ลอยไปบนอากาศ ตกลงกลางพระนครกรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงจีนและเหล่าเสนามาตย์ได้เห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้นก็ยิ่งเลื่อมใส จึงจะราชาภิเษกสมเด็จพระร่วงพร้อมกับอภิเษกด้วยพระราชธิดา แต่พระร่วงได้ทรงยับยั้งไว้ ว่าเมืองที่พระองค์จะต้องครองราชย์นั้นก็คือกรุงสุโขทัย แต่ก็อภิเษกอยู่ด้วยพระราชธิดาถึง ๓ เดือนจึงขอลากลับกรุงสุโขทัย พระราชธิดาขอติดตามพระสวามีมาด้วย พระเจ้ากรุงจีนก็พระราชทานเงินทองแก้วแหวนแพรพรรณ พร้อมด้วยช่างทำถ้วยชาม ๕๐๐ คน

พระร่วงเจ้าทรงโปรดเกล้าฯให้ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนอยู่ในพระราชเรือนหลวง มีพระนามปรากฏว่า นางคันธารราชเทวี เป็นที่เสน่หาของพระร่วงเจ้า ต่อมามีราชบุตรองค์หนึ่ง มีพระรูปโฉมงาม เป็นที่รักของพระร่วงเจ้า พระมารดา และมหาชนทั้งหลาย

ส่วนช่างที่มาจากเมืองจีน ก็ไปทำถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ ณ เมืองสวรรคโลก มุงวิหารการเปรียญและพระอุโบสถ และโปรดฯให้ช่างทำพระปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ต่อมาพระเจ้าศรีธรรมราชา พระอนุชา ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นอีกองค์ เป็นอิฐและศิลาสูงกว่าพระปรางค์ พระร่วงเจ้าทอดพระเนตรเห็นก็ไม่พอพระทัย ให้รื้อยอดที่เป็นศิลาลงมาตั้งไว้ในวัด ซึ่งศิลายอดเจดีย์ก็ยังปรากฏจนทุกวันนี้

ส่วนถ้วยชามที่ทำขึ้น ดินไม่เหมือนในเมืองจีน จึงเกิดริ้วรอยเหมือนร้าวไปทั่ว
ในสมัยพระร่วงนั้น แม้จะมีวาจาสิทธิ์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้รังแกเบียดเบียนบ้านเมืองใกล้เคียง กษัตริย์ในประเทศต่างๆจึงได้ถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระองค์ และขอพระราชทานนามบัญญัติจากพระร่วงเจ้า ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนามบัญญัติจารึกลงในแผ่นทอง พระราชทานแก่กษัตริย์เหล่านั้น กว้างไกลไปถึงรามัญ พุกาม เมาะตะมะ มลายู จนถึงเมืองจีน

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระร่วงเจ้าครองราชย์มาได้ ๘๐ ปีเศษ มีพระชนมายุ ๙๒ พรรษา จึงตรัสแก่ขุนนางและอาณาประชาราษฎร์ ให้ช่วยกันรักษาเมืองไว้ พระองค์จะเสด็จไปสรงน้ำที่แก่งศิลาใหญ่ในเมืองสวรรคโลก ถ้าภายใน ๗ วันพระองค์ไม่กลับมา ก็ให้ราชาภิเษกเจ้ารามราชบุตรขึ้นครองราชย์

ตรัสสั่งเสียแล้วพระร่วงเจ้าก็เสด็จสู่เมืองสวรรคโลกพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ทรงลงสรงน้ำชำระพระสรีระภายในแก่งใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าแก่งหลวง และได้อันตรธานหายไปในสายน้ำ โดยไม่มีผู้ใดเห็น

เหล่าบรรดาเสนามาตย์กว่าร้อยคนลงดำค้นหาในแก่งศิลาใหญ่ทุกซอกทุกมุม แม้แต่ในป่ารอบด้าน และทุกตำบล ก็ไม่พบ บ้างก็ว่าพระองค์ระลึกถึงพระราชชนนีและลงไปเยี่ยมพระประยูรญาติในนาคพิภพ ต่างเฝ้ารออยู่ที่ริมแก่งน้ำนั้นก็ยังไม่เสด็จกลับมา จึงจำใจต้องกลับกรุงสุโขทัยด้วยความโศกเศร้าอาดูร

ตำนานเรื่องพระร่วง มีปรากฏอยู่หลายสำนวน ล้วนมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ซึ่งชื่อ “พระร่วง” นี้กล่าวคลุมเครือว่าเป็นกษัตริย์ของกรุงสุโขทัย บ้างก็หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งในเมืองสุโขทัยก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวพันกับพระร่วง เช่นปลาพระร่วง ที่เนื้อใสเห็นแต่ก้างว่ายน้ำ ข้าวตอกพระร่วง ไม้เช็ดก้นพระร่วง และโซกพระร่วง คือช่องเขาขาดที่ว่าพระร่วงลองพระขรรค์ฟันภูเขาขาดออกจากกัน

ส่วนทางกัมพูชาก็มีเรื่องทำนองพระร่วงนี้เหมือนกัน แต่เนื้อเรื่องกลับตรงกันข้ามให้ฝ่ายกัมพูชาเป็นพระเอก และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี ๒๕๔๑ ในชื่อเรื่อง “เดโชดำดิน” เพื่อปลุกเร้าคนรุ่นใหม่ชื่นชมความเก่งกล้าของบรรพชน ซึ่งพระเอกคือ พญาเดโช ซึ่งคงไม่ใช่ที่มาเป็นหินอยู่ในลานวัดแน่

ที่เอาเรื่องนี้มาเล่า ก็เพื่อให้อ่านกันสนุกๆ และเป็นความรู้ว่า เรื่องพระร่วงแม้จะดูเป็นนิทาน แต่ก็ไม่ใช่นิทานธรรมดา ถูกจารึกไว้ในพงศาวดาร และเพื่อนบ้านยังสร้างเรื่องมาตอบโต้เสียด้วย

ขอขอบคุณ : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000029158
เผยแพร่: 22 มี.ค. 2560 10:57 โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ความเห็นถูกปิด