พิธีกรรมแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว)

448

พิธีกรรมแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว)

ความสำคัญ

          ชาวนาในสมัยก่อนเชื่อกันว่า แม่โพสพเป็นวิญญาณของข้าว ฉะนั้นจึงเกิดความยำเกรง และต้องการที่จะแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่โพสพ จึงมีการบวงสรวงแม่โพสพขึ้น นอกจากนั้นชาวบ้านยังเชื่อว่าข้าวมีขวัญอยู่ประจำไม่หลีกหนีไปไหน การที่ขวัญข้าวที่สิงอยู่จะทำให้ต้นข้าวงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลผลิตสูง  และไม่มีโรคภัยเบียดเบียนหรือเฉาแห้งตาย  เมื่อนำข้าวที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วขึ้นสู่ยุ้งข้าว หรือลอมข้าวหรือเรินข้าว แม้ว่าจะนำมาจำหน่ายหรือกินก็ไม่หมดหรือสิ้นเปลืองน้อยที่สุด  การทำขวัญข้าวนิยมทำหลังจากเก็บเกี่ยว และขนข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉางเรียบร้อยแล้ว

ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุงเชื่อว่า การทำขวัญข้าวเป็นการประกอบพิธีเพื่อสดุดีแม่โพสพ เพื่อความสวัสดิมงคล และเพื่อแสดงความชื่นชมยินดี ที่ได้ทำนาประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่การทำขวัญข้าวมักทำในเดือน 6 ถ้าเป็นข้างขึ้นใช้วันคี่ เช่น 13 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าเป็นข้างแรมใช้วันคู่เช่น 12 ค่ำหรือ 14 ค่ำ แต่ส่วนมากนิยมทำในวันธรรมะสวนะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืนวันเพ็ญ การทำขวัญข้าวจะต้องไม่เลือกเอาวันที่ถูกผีเสื้อข้าว คือวันที่ตำราฤกษ์ยาม ระบุว่าถ้าหว่าน ปักดำ หรือเก็บเกี่ยวในวันนั้น ชาวบ้านจะเชื่อว่าจะถูกผีเสื้อข้าวกินหมด การทำขวัญข้าวหมอทำขวัญ จะทำพิธีในตอนพลบค่ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเวลานกชุมรังในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ วันพระหรือทักทับทิน คือวันขึ้นหรือแรมที่เลขวันกับเลขเดือนตรงกันเช่นเดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ

พิธีกรรม

อุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีมีเครื่องเส้นที่นำมาใส่ในบัตรพลีได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ขนมแดง ขนมขาว กล้วย อ้อย ถั่ว งา ปลามีหัวมีหาง ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู 12 คำ เทียน 6 เล่ม แหวน 1 วง เงินทอง ขันน้ำมนต์ สายสิญจน์ (เขาของวัวที่ใช้ทำงานจนกระทั่งตาย)  และเครื่องบายศรีใส่ในพานเอาใบตองมาทำเป็นกรวยครอบเครื่องเซ่นไว้เรียกว่าบายศรีปากชาม ในการทำพิธีหมอทำขวัญจะนำอุปกรณ์ต่างๆมาวางบนรองข้าว เอาแหวนผูกด้าย มาวางรอบขวัญข้าว วงสายสิญจ์รอบเครื่องบายสีและเครื่องบูชาในพิธี  แล้วสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย  ชุมนุมเทวดา  ไหว้สัดดี ตั้งนะโม 3 จบ  เปิดกรวยบายสี  จุดเทียนชัยและแหล่บททำขวัญข้าว จบแล้วสวดชยันโต ว่าคาถาปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้แม่โพสพอยู่ประจำยุ้งข้าง เป็นเสร็จพิธี สำหรับขวัญข้าว ให้เอามาไว้ตรงกลางลอม โดยตั้งคอเอียงให้ทรงขึ้น แล้วเอาเพื่อนขวัญข้าว (ข้าวเก่าที่เว้นไว้ตอนกวาดลอมข้าว) มาวางล้อมรอบ  พร้อมกันนี้ ก็เอาข้าวที่เก็บจากช่อซังมาวางไว้ที่ขวัญข้าวด้วย  หลังเสร็จพิธีแล้วขวัญข้าว จะเก็บไว้คู่กับเขาวัวบนลอมข้าวตลอดปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก m-culture.go.th

ความเห็นถูกปิด