พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์
พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ คือ พิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อขออนุญาตเทวดาที่ปกปักรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนำมาทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความหมายของคำว่า “สรงมุรธาภิเษก”
คำว่า มุรธาภิเษก (มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) แปลว่า การรดน้ำที่พระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า สรงมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือแต่งตั้งด้วยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ได้มีกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
กำหนดการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษก
โดยจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2562 การตักน้ำอภิเษก มาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 107 แหล่งน้ำทั้ง 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ
สำหรับน้ำสรงมุรธาภิเษก
มีแหล่งน้ำสรงมุรธาภิเษก จำนวน 9 แหล่งน้ำ ได้แก่
สระศักดิ์สิทธิ์ ในอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี 4 สระ คือ สระแก้ว, สระคา, สระยมนา และ สระเกษ
และน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย คือ
1. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
2. แม่น้ำป่าสัก ตักที่บริเวณบ้านท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี
3. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักบริเวณปากคลองบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
4. แม่น้ำราชบุรี ตักบริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
5. แม่น้ำเพชรบุรี ตักบริเวณท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ภาชนะและอุปกรณ์สำคัญ ในพิธีตักน้ำ
1.ขันน้ำสาคร
เป็นภาชนะใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ปริมาณร้อยละ 80 ของขันน้ำสาครตามฤกษ์ จากนั้นปิดฝาขันน้ำสาคร ห่อด้วยผ้าขาว ผูกริบบิ้นสีขาว นำไปเก็บ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ
2.ที่ตักน้ำ
เป็นทองเหลืองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว พร้อมด้ามจับยาว 6 นิ้ว
3.คนโทน้ำอภิเษก

ใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่าน พิธีทำน้ำอภิเษก สามารถบรรจุน้ำได้ 4.5 ลิตร เป็นคนโทเซรามิก มีลวดลายกระจังเป็นลายน้ำทอง เคลือบสีขาวทั้งใบ โดยด้านหน้าจะมีตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ส่วนด้านหลังจะมีภาพเครื่องหมายราชการแต่ละจังหวัด
4. เทียนชัย
เทียนชัย 1 เล่ม หนัก 80 บาท ไส้ 108 เส้น สูงเท่าความสูงของประธาน
5. เทียนมหามงคล
เทียนมงคล 1 เล่ม หนัก 10 บาท ไส้เกินกว่าอายุประธาน หรือเจ้าภาพ 1 เส้น สูงเท่าวงรอบศีรษะ
6. เทียนพุทธาภิเษก
เทียนพุทธาภิเษก 2 เล่ม หนักเล่มละ 32 บาท ไส้ 56 เส้น สูงประมาณกึ่งหนึ่งของเทียนชัย
ลำดับขั้นตอน
หลังจากพิธีพลีกรรมตักน้ำอภิเษกใส่ลงในคนโทน้ำอภิเษกแล้ว จะมีพิธีทำน้ำอภิเษก พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ก่อนจะเชิญคนโทน้ำอภิเษกของจังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย และต่อไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์รวม และสุดท้ายนำไปไว้ยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก mthai.com
ความเห็นถูกปิด