พิธีลาซัง ความเชื่อเรื่องการเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พิธีลาซัง เป็นประเพณีประจำปีของจังหวัดในแถบชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการแก้บน หรือ เซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคยบนบานมาก่อน และขอบนบานให้ปีถัดไปได้ข้าวอุดม สมบูรณ์ อาจมีการเรียกชื่อต่างกันออกไปเช่น ชาว อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เรียกว่า “ลาซัง” ชาวไทยพุทธ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เรียกว่า “ล้มซัง” หรือ กินขนมจีน หรือ กินฟองข้าว หรือ กินท้องข้าว” ชาวไทยมุสลิมเรียกว่า “ปูยอมือแน”
พิธีลาซังจะทำในเดือน 6 หลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่จะเป็นวันใดแล้วแต่ชาวบ้านจะตกลงกัน ในการทำพิธีจะเริ่มด้วยการให้หมอไสยศาสตร์ เอาซังข้าวที่ชาวบ้านตัดหรือถอนมา จากนาที่เก็บเกี่ยวเป็นแปลงสุดท้ายบ้านละ 2-3 ซัง มารวมกัน แล้วแบ่งซังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำเป็นหุ่นผู้ชาย และอีกส่วนทำเป็นหุ่นผู้หญิง ให้มีหัว คอ ลำตัว แขน ขา ตรงส่วนคอทำเป็นช่องกลวงไว้ใส่อาหาร เรียกหุ่นนี้ว่า “ชุมพุก” หุ่นผู้ชายจะแต่งตัวหรือไม่ก็ได้ ส่วนหุ่นผู้หญิงต้องมีการแต่งกายโดยนุ่งผ้าถุง และสวมเสื้อให้ด้วย ทำผมใน ลักษณะเกล้ามวย ทัดดอกไม้ในส่วนที่สมมุติเป็นหู
เมื่อทำ “ชุมพุก” เสร็จเรียบร้อย ผู้ร่วมพิธีจะช่วยกันจัดตั้งศาลเพียงตาขึ้น พร้อมตั้งเครื่องเซ่นที่เตรียมมาที่ศาลเพียงตา โดยวางดอกมะพร้าว และมะพร้าวอ่อน 1 ผล น้ำ และ ภาชนะที่จะใส่สิ่งของอื่น ที่ใช้เซ่นสรวงเจ้าที่นา และแม่โพสพ ประกอบด้วย ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แกงเป็ดแกงไก่ (อาจใช้ ไข่เป็ด หรือ ไข่ไก่ แทนได้) ปลามีหัวมีหาง อย่างละพอ ประมาณ จัดตั้งศาลเพียงตาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปูเสื่อ จัดเชี่ยนหมาก หมอนสำหรับหนุน ธูปเทียนและสำรับกับข้าว ตั้งบนเสื่อ จากนั้นนำชุมพุกจัดท่านั่งคู่กันบนเสื่อ หุ่นผู้หญิงนั่ง ด้านซ้าย หุ่นผู้ชายนั่งด้านขวา เพื่อทำพิธีแต่งงาน และทำขวัญให้กับชุมพุก ในช่วงนี้ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดจะนั่งล้อมชุมพุก แล้วจุดธูปเทียนบูชาพระ
จากนั้นประกาศอันเชิญเจ้าที่ เจ้านา ให้มารับเครื่องเซ่น แล้วโรยข้าวสารและดอกไม้ให้ชุมพุก ในช่วงนี้ผู้ร่วมพิธีจะเดินเทียน โบกควันให้ชุมพุก ไปรอบๆ จนครบ 3 รอบ แล้วช่วย กันป้อนข้าว และน้ำให้ชุมพุก โดยใส่ลงไปทางช่องที่คอชุมพุก เสร็จแล้วนำอาหารที่เหลือใส่ภาชนะวางบนศาลเพียงตา แล้วกลับมานั่งรอบชุมพุก ประกาศถึงเจ้าที่นา และแม่ โพสพ ขอให้การทำนาปีต่อไปจงได้ผลดี ต้นข้าวงอกงาม ผลผลิตสูง อย่าให้ข้าวในนาลีบ เป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานให้ชุมพุก
เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานให้ชุมพุกแล้ว ผู้ร่วมพิธีจะช่วยกันอาบน้ำ ทาแป้ง ประพรมน้ำหอมอบร่ำ ให้ชุมพุก จากนั้นช่วยกันหามชุมพุกไปริมป่าใกล้ๆ ท้องนาที่ทำพิธี (มักอยู่ใกล้ วัด) ช่วยกันตัดเชือกที่มัดตัวชุมพุก ให้ขาดเพื่อทำลายชุมพุก แล้วโยนซังจากตัวชุมพุกขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นอันเสร็จพิธี
จัดทำโดย : สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
ความเห็นถูกปิด