หลากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกล้วยๆ

185

หลากความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกล้วยๆ

ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มากมาย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ในหญิงมีครรภ์มักไม่รับประทานกล้วยแฝดเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด

สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนถ้ารับประทานแกงหัวปลี จะมีน้ำนมมาก ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว หัวปลีเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง บำรุงเลือดดี จึงทำให้มีน้ำนมมากนั้นเอง

ในงานมงคลมักมีกล้วยเข้ามาร่วมเกี่ยวในพิธีด้วย เช่น กล้วยทั้งเครือ กล้วยดิบ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และความสงบร่มเย็น ขนมกล้วยเป็นขนมที่พบได้ประจำในพิธีหมั้นพิธีแต่งงานของชาวไทยสมัยก่อนเพราะกล้วยหมายถึงความเจริญงอกงาม ได้ผลดกดื่นเหมือนกล้วย

ในพิธีทางศาสนา เช่น การเทศน์มหาชาติ และการทอดกฐิน มักใช้ต้นกล้วยประดับธรรมาสน์ และองค์กฐิน

ในพิธีตั้งขันข้าว หรือค่าบูชาครูหมอตำแย สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และไปขอให้หมอตำแยทำคลอดให้ จะต้องใช้กล้วย ๑ หวี พร้อมทั้งข้าวสาร หมากพลู ธูปเทียนสำหรับการทำพิธีบูชาครูก่อนคลอด และเมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่ไฟ ก็ยังใช้ต้นกล้วยทำเป็นท่อนล้อมเตาไฟ ป้องกันการลามของไฟ

ในพิธีทำขวัญเด็ก เมื่อเด็กอายุได้ ๑ เดือน กับ ๑ วัน มีการทำขวัญเด็กและโกนผมไฟ จะมีกล้วย ๑ หวี เป็นส่วนประกอบในพิธีด้วย

ในพิธีแต่งงาน มักมีต้นกล้วยและต้นอ้อยในขบวนขันหมาก พร้อมทั้งมีขนมกล้วย และกล้วยทั้งหวี เป็นการเซ่นไหว้เทวดาและบรรพบุรุษ

ในการปลูกบ้าน เมื่อมีพิธีทำขวัญยกเสาเอก จะใช้หน่อกล้วยผูกมัดไว้ที่ปลายเสาร่วมกับต้นอ้อย และเมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการลาต้นกล้วยและต้นอ้อยนั้น นำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน จากนั้นประมาณ ๑ ปี หรือเมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วพร้อมอยู่อาศัย ก็มีกล้วยไว้กินพอดี

ในงานศพ ในสมัยโบราณ มีการนำใบตองมารองศพ ก่อนนำศพวางลงในโลง ใช้ในศิลปะการแทงหยวกไว้ที่เชิงตะกอนเวลาเผาศพ ส่วนใหญ่ใช้กาบกล้วยตานี เพราะกาบกล้วยตานี ขาวสะอาด ทำให้หยวกที่แทงมีลวดลายสวยงาม งานแทงหยวกเป็นงานที่ต้องทำหลายคนแล้วเอามาประกอบกัน โดยช่างผู้ทำต้องสลักเป็นลายไทยต่างๆ เช่น กระจังตาอ้อย กระหนกเปลว ครีบสิงห์ แข้งสิงห์ รักร้อย และเครือเถา

นอกจากนี้ใบตองยังมีบทบาทสำคัญมากในพิธีกรรมต่างๆ โดยการนำมาทำกระทงใส่ของ ใส่ดอกไม้ และประดิษฐ์เป็นกระทงบายศรี วัยหนุ่มอายุครบบวช ใบตองจากต้นกล้วยก็จะมาใช้ในพิธีทำบายศรีสู่ขวัญ หรือขวัญนาค และเมื่อลาสิกขา

พอถึงคราแยกเรือน ยกเสาเอก ก็จะใช้กล้วยในพิธีทำขวัญเสาเอก ทั้งยังเป็นเครื่องสังเวย พอถึงคราวตายใบตองส่วนหนึ่งของต้นกล้วย ก็จะถูกนำมาพับเป็นกรวย ใส่ธูปเทียนลาตาย พอนำศพลงโลง พื้นโลกก็ต้องลองด้วยใบกล้วยตานีอีก และถ้าบังเอิญว่าคนตายมียศถาบรรดาศักดิ์ กาบกล้วยที่ถูกช่าง”แทงหยวก”ด้วยลวดลายสวยงามก็จะถูกนำมาประดับโลงศพและเชิงตะกอนอีกเช่นกัน

งูแพ้เชือกกล้วย เชื่อสืบต่อกันมาว่า เชือกกล้วยที่ทำจากกาบกล้วยตากแห้ง ถ้าทำเป็นบ่วงคล้องคองู หรือนำมามัดงู จะทำให้งูตัวอ่อนและหมดแรง ยอมให้ลากไปไหน ๆ ได้โดยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งูเขียว กับงูเหลือม ซึ่งก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? แต่บอกไว้ก่อนนะว่าเรื่องนี้ไม่ขอรับประกัน อย่าเที่ยวทดลองสุ่มสี่สุ่มห้า ก็แล้วกัน ประเหมาะ เคราะห์ร้าย จะถูกงูกัดตายโดยไม่รู้ตัว

กล้วยเป็นยาอายุวัฒนะ

มีความเชื่อที่ว่า ถ้านำกล้วยแช่น้ำผึ้ง ใส่ไห ใช้ปูนแดงทาแล้วเอาฝาปิดให้ดี จากนั้นก็นำไปวางไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในว้นเข้าพรรษา ทิ้งไว้ 3 เดือน จนถึงวันออกพรรษาถ้านำมารับประทาน จะเป็นยาอายุวัฒนะ รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว และเสริมพลังด้วย ไม่มีหลักฐานระบุ นอกเหนือจากที่ว่า ถ้านำกล้วยมาแช่น้ำผึ้ง แล้วไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน จะได้ผลเหมือนกันหรือไม่ แต่ก็น่าทดลองทำนะ

 

ที่มา http://ku-iged.project.ku.ac.th/

ความเห็นถูกปิด