เขาเขียว โพธาราม..ต้นตำนานนางกวัก ตอนที่ 2
การปกครองในสมัยนั้นเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พลเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทหารทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันเมือง และพลเมืองมีหน้าที่เป็นคณะปุโรหิต และทำหน้าที่อื่นตามแต่เจ้าเมืองจะมอบหมาย องค์อินอธิราชเป็นกษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยเปี่ยวด้วยความอ่อนโยนและเมตตาธรรม ดังนั้นราษฎรของเมืองวังแก้วจึงอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง ในการว่าราชการ พระองค์ฯ ได้ตกแต่งถ้ำเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการ และเก็บพระคลังมหาสมบัติไว้ในถ้ำ รวมทั้งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์และราชวงศ์ องค์อินอธิราชมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว พระนามว่า “องค์หญิงอุมาเทวี”
ปู่เจ้าเขาเขียว ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์
เมื่อองค์อินอธิราชมีพระชนมายุได้ 50 พรรษาเศษ และองค์หญิงอุมาเทวี มีพระชันษา 16 พรรษา ปู่เจ้าเขาเขียว ได้กระทำปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน เป็นอันว่าสิ้นสุดราชวงศ์องค์อินอธิราช และสิ้นสุดเมืองวังแก้ว พร้อมถ้ำที่ประทับทั้งปวงของเมืองวังแก้วได้ถูกปิดตายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เมืองมินต์
ปู่เจ้าเขาเขียวได้ตั้งนามเมืองของพระองค์ใหม่ว่า “เมืองมินต์” พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ครองเมือง การปกครองเมืองของพระองค์ก็ได้ใช้ถ้ำเป็นท้องพระโรงว่าราชการ เก็บพระคลังมหาสมบัติ และเป็นที่ประทับของพระองค์และราชวงศ์ คล้ายคลึงกับที่องค์อินอธิราชได้ปฏิบัติมา แต่เป็นคนละสถานที่กัน
ปู่เจ้าเขาเขียวเป็นกษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยแตกต่างจากองค์อินอธิราช กล่าวคือพระองค์มีพระทัยดุ เหี้ยมหาญ เด็ดขาด เป็นที่คร้ามเกรงของอริราชศัตรู ปู่เจ้าเขาเขียวมีพระมเหสี 4 องค์ มีพระราชโอรสหลายพระองค์ แต่ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวนามว่า
“องค์หญิงกวักศิรินภา”
ทรงพระศิริโฉมงดงามมาก มีเสน่ห์ทำให้เกิดความรักความเมตตาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น กิตติศัพท์ความงดงามขององค์หญิงกวักศิรินภาเป็นที่เลื่องลือไปยังทั่วแคว้นแดนไกล แต่องค์หญิงกวักศิรินภา ต้องมาสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเมื่อพระชันษาเพียง 15 พรรษา แต่กระนั้นก็ตามนามของ “นางกวัก” ก็ยังเป็นสัญญลักษณ์ของความมีเสน่ห์เมตตามหานิยม มาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ที่มาของภาพ
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1835104
สละราชสมบัติถือศีลภาวนา
เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวมีพระชนม์ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย ได้มีน้ำพระทัยใฝ่ทางธรรมมะมากขึ้น จนพระองค์ได้สละราชสมบัติถือศีลภาวนา และผนวชเป็นพราหมณ์ฤาษีจนเสด็จสวรรคต ในส่วนของเมืองมินต์ เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวได้สละราชสมบัติแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้สืบราชสมบัติแทน โอรสและพระราชวงศ์ส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าสู่ผืนแผ่นดินใหญ่สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ ยังคงมีพลเมืองของเมืองมินต์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มิได้อพยพไปไหน เป็นอันสิ้นสุดความรุ่งเรือของเมืองมินต์
ในช่วงต่อมาอีกไม่นานนัก เขาเขียวก็ประสบเคราะห์กรรม ได้เกิดวาตภัย อุทกภัย โหมกระหน่ำทำลายเขาเขียว จนบ้านเรือนพังพินาศ พลเมืองล้มตายลงหมดสิ้น เขาเขียวกลายเป็นป่าเขาที่รกชัฎ เต็มไปด้วยสิงสาราราสัตว์ เป็นสถานที่รกร้างไร้ผู้คน เป็นสถานที่สงบเหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรของฤาษีชีไพรเท่านั้น
*******************************************
ที่มา
คำรณ แพงไพรี. (2546). ประวัติเขาเขียว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี : การประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคกลางครั้งที่ 25. สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี. (หน้า 43-45)
ความเห็นถูกปิด