เขาเขียว โพธาราม..ต้นตำนานนางกวัก ตอนที่ 1
เรื่องประวัติเขาเขียว ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นี้ ผู้จัดทำไปอ่านพบในหนังสือที่ระลึกการประชุมวิชาการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อ.ก.ท.) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวจัดทำแจกจ่ายในการประชุมภาคกลางครั้งที่ 25 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี (เรียกกันทั่วไปว่าเกษตรเขาเขียว) เมื่อวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2546
บทความนี้เขียนโดย คุณคำรณ แพงไพรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ประธานเขต 18 ภูมิภาคที่ 6 ไลออนส์สากล ภาค 310 ดี นายกสโมสรไลออนส์โพธาราม ท่านได้ศึกษาประวัติของเขาเขียวด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ท่านประสบความมหัศจรรย์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเขาเขียวด้วยตนเองถึง 3 ครั้ง และอีกประการหนึ่งเกิดจากท่านผู้ใหญ่ 2 คนซึ่งเป็นผู้อาวุโสทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และยศฐาบรรดาศักดิ์ ได้ขอร้องให้ศึกษา เพราะเชื่อว่า เขาเขียวคือต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ไทย คนไทยมิได้อพยพมาจากแหล่งอื่นแต่อยู่ที่นี่ …ที่เขาเขียวนี้เอง
คุณคำรณฯ เขียนเรื่องราวของเขาเขียว เอาไว้ พอสรุปได้ดังนี้…..
สมัยเมื่อ 4,000 ปีเศษ เขาเขียวเป็นดินแดนที่ติดชายทะเล
เมื่อน้ำทะเลขึ้นก็จะโอบล้อมเขาเขียว เมื่อน้ำทะเลลงก็สามารถเดินทางติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ได้โดยการเดินเท้า เขาเขียวเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารแมกไม้นานาพรรณ ท้องทะเลสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร เขาเขียวมีถ้ำปรากฏอยู่มากมายใช้เป็นที่หลบซ่อนศัตรูและเก็บรักษาสมบัติต่างๆ น้ำทะเลเปรียบเสมือนปราการสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยปกป้องผืนแผ่นดินเขาเขียวจากภยันตรายภายนอก เขาเขียวในสมัยนั้นจึงมีผู้คนอาศัยกันอยู่คับคั่ง มีอารยะธรรมที่รุ่งเรืองตามกาลสมัย ผู้คนสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณโดยรอบเขาเขียว ตามที่ราบลุ่มและตามชายหาด
องค์อินอธิราช
ในกาลครั้งนั้นได้มีบุรุษ 3 คน เดินทางมาถึงเขาเขียว ทั้ง 3 คนเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน คนพี่ซึ่งน้องๆ ยอมรับว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงกว่าคนอื่น ได้เข้าปกครองเขาเขียว และตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่เขาเขียวแห่งนี้ชื่อว่า “เมืองวังแก้ว” และเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองทรงพระนามว่า “องค์อินอธิราช”
ส่วนคนกลาง (ไม่ทราบพระนามจริง)ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสมือนพระมหาอุปราชของเมืองวังแก้ว ปกครองเขาเขียวอีกยอดหนึ่งถัดไป (เขาเขียวมีภูเขาหลายลูก) คนกลางนี้ต่อมาก็คือ “ปู่เจ้าเขาเขียว” นั่นเอง
ส่วนคนน้อง (ไม่ทราบพระนามเช่นกัน) ไม่ฝักใฝ่ทางโลก แต่ฝักใฝ่ทางธรรม ได้ออกผนวชเป็นพราหมณ์ฤาษีบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ ณ เขาเขียวอีกยอดหนึ่ง และเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการทั้งปวงให้แก่ราชวงศ์และพลเมืองของเมืองวังแก้ว
ที่มาของภาพ
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1835104
สละราชสมบัติถือศีลภาวนา
เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวมีพระชนม์ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย ได้มีน้ำพระทัยใฝ่ทางธรรมมะมากขึ้น จนพระองค์ได้สละราชสมบัติถือศีลภาวนา และผนวชเป็นพราหมณ์ฤาษีจนเสด็จสวรรคต ในส่วนของเมืองมินต์ เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวได้สละราชสมบัติแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้สืบราชสมบัติแทน โอรสและพระราชวงศ์ส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าสู่ผืนแผ่นดินใหญ่สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ ยังคงมีพลเมืองของเมืองมินต์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มิได้อพยพไปไหน เป็นอันสิ้นสุดความรุ่งเรือของเมืองมินต์
ในช่วงต่อมาอีกไม่นานนัก เขาเขียวก็ประสบเคราะห์กรรม ได้เกิดวาตภัย อุทกภัย โหมกระหน่ำทำลายเขาเขียว จนบ้านเรือนพังพินาศ พลเมืองล้มตายลงหมดสิ้น เขาเขียวกลายเป็นป่าเขาที่รกชัฎ เต็มไปด้วยสิงสาราราสัตว์ เป็นสถานที่รกร้างไร้ผู้คน เป็นสถานที่สงบเหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรของฤาษีชีไพรเท่านั้น
*******************************************
ที่มา
คำรณ แพงไพรี. (2546). ประวัติเขาเขียว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี : การประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคกลางครั้งที่ 25. สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี. (หน้า 43-45)
ความเห็นถูกปิด