“เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทวดา กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 1
โบราณสถาน “เมืองศรีเทพ” ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ คือหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ณ สถานที่แห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยมีมนุษย์อาศัยอยู่มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อีกทั้งโบราณสถานแห่งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างและถูกลืมเลือนไปในที่สุด
“คนแบกใต้ฐานเขาคลังใน” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ในปี พ.ศ. 2447 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ทรงค้นพบเมืองโบราณแห่งนี้ พระองค์ได้ค้นพบทำเนียบเก่าที่บอกรายชื่อหัวเมืองและมีชื่อเมืองศรีเทพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใด
ต่อมาพระองค์ทรงค้นพบสมุดดำเล่มหนึ่งกล่าวถึงการให้คนเชิญตราสารไปบอกข่าวการสิ้นพระชนม์ของรัชการที่ 2 ไปตามหัวเมืองต่างๆ และมีอยู่เส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ เมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมติฐานว่าเมืองศรีเทพน่าจะอยู่ทางลำน้ำป่าสัก เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ได้จัดหาผู้ชำนาญพื้นที่เพื่อที่จะสอบถามว่ามีเมืองโบราณอยู่ใกล้ลำน้ำป่าสักที่ไหนบ้างและถามไถ่หาความจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกมาต้อนรับว่า ละแวกนี้นั้นมีเมืองโบราณอยู่หรือไม่ และได้ทำการค้นหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดก็ค้นพบเมืองโบราณแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับลำน้ำป่าสัก และทรงเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองศรีเทพ”
“องค์สุริยะเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เมืองโบราณแห่งนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองแล้วมีเนินดินสูงล้อมรอบคล้ายกำแพงเมือง ด้านนอกของเนินดินเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบอีกหนึ่งชั้น การขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยกรมศิลปากร และเป็นที่น่าแปลกใจของกรมศิลปากรเมื่อเห็นว่าภายในพื้นที่บริเวณเขตเมืองโบราณนั้นไม่มีชาวบ้านคนไหนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเมืองโบราณเลย แต่กลับสร้างบ้านและตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกเขตเมืองโบราณเท่านั้น
อ้างอิง
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
คำสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่
ปฏิญญา บุญมาเลิศ. คําเรียกผีและความเชื่อเรื่องผีในภาษาไทยถิ่นเหนือ. (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ,2554)
ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว.แผ่นพับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562
ความเห็นถูกปิด