“เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทวดา กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 2

151

“เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทวดา กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 2

 

“ปรางค์ศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ชาวบ้านเล่าว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่อยู่ของเทพเทวดา เมืองโบราณแห่งนี้เทพเทวดาได้สร้างเอาไว้ก่อนที่จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ในสมัยก่อนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัยและมีความเชื่อว่าหากใครเข้าไปอยู่ในพื้นที่เมืองโบราณแห่งนี้ ก็จะเกิดอาเพศกับตนเองและครอบครัว

บางคนอาจล้มป่วยโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางคนถึงขั้นเสียสติเมื่อเข้าไปอยู่อาศัยภายในสถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ทำได้แค่เพียงอาศัยพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ประกอบอาชีพเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนก็จะมีการประกอบอาชีพการเกษตร ล่าสัตว์ และเก็บของป่า

“เมืองศรีเทพ” ตำนานเมืองเทวดา กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ 2
พีธีกรรมด้านความเชื่อนั้นสมัยก่อนชาวบ้านมักจะไปกราบไหว้และนำเครื่องเซ่นไปไหว้ ซึ่งศาลที่ตั้งไว้บนเนินดินบริเวณขอบพื้นที่เมืองโบราณ หรือเนินที่กรมศิลปากรเชื่อว่าน่าจะเป็นกำแพงเมือง หลังจากที่เมืองโบราณเปลี่ยนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทางอุทยานฯ ได้อัญเชิญศาลแห่งนี้ลงมาไว้ด้านล่าง และเทวรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาลนั้นชาวบ้านเรียกขานกันว่า “เจ้าพ่อศรีเทพ” และหลังจากที่ทำการย้ายศาลลงมา ทางอุทยานฯ ก็ได้เข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่บริเวณศาล

“เจ้าพ่อศรีเทพ” อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ทำให้การเข้ามากราบไหว้ศาลของชาวบ้านเริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป คือ ชาวบ้านเลิกนำของเซ่นเข้ามากราบไหว้ศาลแต่ยังจุดธูปเทียนอยู่ และส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำอาหารมาเซ่นไหว้ศาลในวันที่ทางอุทยานฯ จัดงานบวงสรวงขึ้น ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จึงกลายเป็นงานประจำปีในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเมืองโบราณไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปอาศัยอยู่ ซึ่งชาวบ้านทุกคนให้ความสำคัญและเคารพในพื้นที่เมืองโบราณ เพราะไม่ได้เป็นเพียงโบราณสถานเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านต้องการที่จะรักษาภาพลักษณ์และอนุรักษ์ไม่ให้พื้นที่เมืองโบราณนี้ไม่ถูกทำลายจากบุคคลภายนอก

 

 

 

อ้างอิง
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

คำสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่

ปฏิญญา บุญมาเลิศ. คําเรียกผีและความเชื่อเรื่องผีในภาษาไทยถิ่นเหนือ. (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ,2554)

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว.แผ่นพับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2562

ความเห็นถูกปิด