เรื่องเล่าขาน ตำนานรอยพระพุทธบาท”ยอดเขาคิชฌกูฏ”
ชาวบ้านแรกที่ไปพบตำนานรอยพระพุทธบาท “รอยพระพุทธบาท” บน “ยอดเขาคิชฌกูฏ” ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีการเล่าขานสืบต่อกันว่า ในปี พ.ศ.2397 นายติ่ง และพรรคพวก ซึ่งมีอาชีพหาของป่าได้พากันเดินเท้าขึ้นไปบนเขาแห่งนี้ พร้อมกับตั้งที่พักอยู่บนเขานี้ด้วย เพราะพวกเขาต้องไปค้างแรมบนเขาหลายวันติดต่อกัน
อยู่มาวันหนึ่ง นายติ่งและพรรคพวก เดินออกไปจากที่พัก เพื่อเสาะหาของป่า และได้พากันไปนั่งพักเหนื่อยอยู่ที่ลานหินบนยอดเขาแห่งหนึ่ง พอหายเหนื่อยแล้วก็พากันเดินกลับที่พัก แต่เดินดุ่มๆ อยู่หลายชั่วโมง ก็ปรากฏว่า วกกลับมาที่ลานหินเดิมนั้นซ้ำๆ เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่งนัก

พวกเขาจึงตัดสินใจนั่งพักเหนื่อยที่ลานหินอยู่ชั่วครู่ โดยเพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าที่ลานหินนั้น เพื่อจะเอนตัวลงนอนให้หายอ่อนเพลีย แต่ก็ปรากฏว่า พบแหวนนาคขนาดใหญ่วงหนึ่ง นายติ่งและพรรคพวกจึงคิดว่าใครเอาของมีค่ามาซุกซ่อนไว้ ณ ที่แห่งนี้ และคาดเดากันไปว่า ที่นี่อาจจะมีทรัพย์สมบัติอีกมาก จึงช่วยกันค้นหาทรัพย์สมบัติกันยกใหญ่ แต่สุดท้ายกลับไม่พบอะไร นอกจากลานหินซึ่งมีรอยเท้าขนาดใหญ่ของมนุษย์เท่านั้น
ในขณะนั้น นายติ่งและพรรคพวกไม่มีความรู้เรื่องรอยพระพุทธบาท จึงคิดไปว่าน่าจะเป็นรอยเท้าของผู้มีฤทธิ์ จากนั้นก็เกิดความกลัวว่าจะมีโทษติดตัว เพราะไปหยิบเอาของมีค่าของผู้มีฤทธิ์ออกมา จึงพากันขอขมาต่อรอยเท้านั้น จากนั้นจึงพากันบอกกล่าว ขอให้รอยเท้าของผู้มีฤทธิ์นี้ช่วยดลบันดาลให้ตนและพรรคพวกได้กลับที่พักได้เถิด ซึ่งก็น่ามหัศจรรย์ นายติ่งและพรรคพวกสามารถหาทางกลับที่พักได้อย่างง่ายดาย
ด้วยความที่นายติ่งและพรรคพวกเป็นคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องรอยพระบาท จึงไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง กระทั่ง นายติ่งมีโอกาสได้ไปปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดแห่งหนึ่ง ขณะที่ปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองนั้น นายติ่งก็พิจารณารอยพระพุทธบาทจำลองไปด้วย และนึกขึ้นได้ว่าตนเคยพบรอยเท้าลักษณะนี้บนเขา นายติ่งจึงบอกเล่าถึงความน่าฉงนนี้ให้ญาติๆ ฟังด้วย
กระทั่ง เรื่องถึงหูหลวงพ่อเพชร เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี ท่านเจ้าคณะจึงเรียกนายติ่งไปซักถาม เมื่อท่านเจ้าคณะได้ฟังแล้วก็สนใจเป็นอย่างมาก จึงขอให้นายติ่งนำท่านและคณะเดินทางขึ้นไปบนเขาแห่งนั้น เพื่อจะไปพิสูจน์ว่าสิ่งที่นายติ่งพูดเป็นจริงดังที่นายติ่งว่าหรือไม่
เมื่อเดินทางขึ้นไปยังเขาแห่งนั้น ก็พบตามจริงอย่างที่นายติ่งว่า เพราะที่แห่งนั้นปรากฏรอยเท้าขนาดใหญ่ และมีหินก้อนใหญ่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ไม่ไกลกันนัก ท่านเจ้าคณะและพระสงฆ์ที่ติดตามไปได้พิจารณากันอย่างถี่ถ้วนตามหลักของพระพุทธศาสนา และทั้งหมดต่างลงความเห็นว่า รอยเท้ามนุษย์ตรงหน้านี้ เป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
จากนั้น ท่านเจ้าคณะได้ปรารภกับทุกคนว่า “เป็นบุญเป็นลาภของชาวจันท์ที่ได้มีสิ่งอันล้ำค่าอย่างนี้” จากนั้นจึงพากันกราบไหว้ด้วยความปลาบปลื้มใจ และพากันเดินทางกลับ…
ขอขอบคุณที่มา : https://www.thairath.co.th/news/local/east/1487045
ความเห็นถูกปิด