เรื่องเล่าตำนานเก่าแก่ของพระพุทธชินราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
หากกล่าวถึง พระพุทธชินราช ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่พงศาวดารเหนือ ซึ่งเป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานเมืองเหนือเรื่องต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในปี พ.ศ. 2350 ที่อ้างถึงกษัตริย์เชียงแสนพระนามพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเป็นผู้สร้าง พร้อมกับการสร้างเมืองพิษณุโลกและพระพุทธรูปอีก 2 องค์คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา

พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในชื่อ “ตำนานพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา” ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ โดยใช้พงศาวดารเหนือในการอ้างอิงจึงทำให้มีเนื้อหาหลักคล้ายคลึงกัน แต่เพิ่มเติมการสร้างพระเหลือเข้าไป และมีการระบุศักราชในการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไว้ดังนี้ พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาหล่อในปี พ.ศ. 1498 และพระพุทธชินราชหล่อขึ้นในปี พ.ศ. 1500 (หย่อนอยู่ 7 วัน)
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “เที่ยวตามทางรถไฟ” ความว่า “มีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก ซึ่งทรงสร้างเมืองพิษณุโลกนั้น ทรงดำริจะสร้างพระพุทธรูป 3 พระองค์…แล้วทรงเททองสัมฤทธิ์หล่อเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ปีจอ (ประมาณว่าในปีจอ พ.ศ.1907) สำเร็จเรียบร้อยแต่ 2 พระองค์ คือพระพุทธชินสีห์กับพระศาสดา แต่พระพุทธชินราชต้องหล่อหลายครั้งจึงสำเร็จ แล้วเอาเศษทองที่เหลือหล่อพระพุทธรูป 3 พระองค์นั้น หล่อเป็นพระพุทธรูปขนาดน้อยไว้อีกพระองค์ 1 จึงเรียกว่า “พระเหลือ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองพิษณุโลก ได้มีพระราชหัตถเลขา บันทึกถึงองค์พระพุทธชินราชไว้ว่า
“…พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา 3 พระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีศิริอันเทพยดาหากอภิบาลรักษาย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬาร ปรากฏมาในแผ่นดินก็ทรงนับถือทำสักการบูชามาหลายพระองค์…จะหาพระพุทธรูปองค์ใดงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว…”
ขอขอบคุณที่มา : https://www.kidnan.com/25112/
ความเห็นถูกปิด