เรื่องเล่าที่มา ศาลเพียงตา

121

เรื่องเล่าที่มา ศาลเพียงตา

 

ศาลเพียงตา คือ สถานจำลองชั่วคราวสำหรับให้ผีเทวดาอารักษ์ เจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา เข้ามาสถิต แล้วตั้งเครื่องบวงสรวงสังเวย ปกติสร้างด้วยไม้ไผ่หรือไม้รวก ที่พบในไทยมักทำมีชั้นลด ตัวศาลปักเสายกสูงระดับสายตา จึงเรียกว่า ศาลเพียงตา

นอกจากการสร้างด้วยวัสดุชั่วคราวแล้ว ศาลพระภูมิถาวร สถิตพระภูมิเจ้าที่ สร้างด้วยไม้หรือปูน ก็มีกำหนดให้สูงระดับเพียงตาเช่นกัน
นอกจากในไทยแล้ว ประเทศอื่นๆในอุษาคเนย์ก็มีการตั้งศาลเพื่อเป็นที่สถิตของผี โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ศาลมีเกือบทั่วทุกที่ โดยเฉพาะในบ้าน ทุ่งนา ศาสนสถานและในพิธีสำคัญๆ มีทั้งแบบตั้งเสาเดียวหรือสี่เสา มีหลังคาไม้ไผ่สานทรงจั่ว ทรงโค้ง และคล้ายหลังคาบ้านพื้นถิ่นมุงด้วยหญ้า เพื่อวางเครื่องเซ่นและสถิตผีเทพเจ้ารวมถึงบรรพชน

จดหมายสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ถึงพระยาอนุมานราชธน ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2482 ว่าที่เกาะชวาบาหลีมีศาล (สมเด็จกรมพระยานริศฯวินิจฉัยว่าควรเขียนเป็น “สาน” จึงจะถูกต้องกว่า) มาก ตั้งแต่ทำด้วยไม้ไผ่อย่างศาลเพียงตาของเรา ขึ้นไปจนทำด้วยไม้จริงและก่ออิฐ แต่ล้วนเล็กๆ และอยู่บนฐานสูงโทงเทงทั้งนั้น ศาลเพียงตามีชั้นลดเป็นสองชั้น ที่ชั้นลดหมายให้ตั้งเครื่องเส้น ชั้นบนหมายให้เป็นที่เทวดานั่ง แล้วที่ชั้นบนนึกให้เทวดานั่งสบาย เข้าใจว่าจะทำเป็นปะรำขึ้นก่อน แล้วภายหลังจึงกลายเป็นเรือน เช่น ศาลเจ้าศาลพระภูมิ เพราะถึงแม้จะทำเป็นเรือนก็มีชั้นลดอย่างศาลเพียงตา (บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ เล่ม 3. พิมพ์ครั้งที่ 3. มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2552)

สมเด็จกรมพระยานริศฯ ยังกราบทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอีก ว่า ตามบ้านในเมืองบาหลีมีศาลเทวดาอยู่มากมาย พวกเดียวกับศาลพระภูมิของเรา มีศักดิ์เท่ากับศาลพระภูมิ เป็นศาลผีศักดิ์สิทธิ์ ถึงพราหมณ์จะเข้าไปแต่ชาวบ้านก็ยังคงนับถือผี มีศาลหลายแบบ แบบหนึ่งคือศาลกำมะลอ ทำด้วยไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ ไม่มีหลังคาทำอย่างศาลเพียงตาของเรา มีทำทุกๆที่ทั้งโรงชนไก่ โรงแต่งตัวละคร เอาเครื่องละครและบทละครไว้บนศาลนั้น (สาส์นสมเด็จ เล่ม 13. องค์การค้าคุรุสภา, 2504)

เรื่องความแตกต่างระหว่างผีเทวดาอารักษ์ในเมืองและนอกเมือง ศรีศักร วัลลิโภดม ยังอธิบายว่า นอกจากตัวรูปแบบศาลจะต่างกันแล้ว ชื่อยังแตกต่างกันด้วย ท้องถิ่นชนบทเรียก “เจ้าที่” ขณะที่ในเมืองเรียก “พระภูมิ” มาจากภาษาสันสกฤต เป็นผีสองประเภทที่ไม่เหมือนกัน ดูได้จากเสาของศาล เสาเดียวคือ พระภูมิ ส่วนศาลที่มี 4 เสาเหมือนเรือนคือ ศาลเจ้าที่

มีความเห็นอื่นเสริมอีกว่า เมื่อคนเชื่อว่าเจ้าที่ เป็นผีรักษาดูแลและสถิตอยู่พื้นดินนั้นๆ จึงต้องมีบันไดขึ้นสู่ที่พักเช่นเดียวกับบ้านคน ส่วนศาลพระภูมิเสาเดียวไม่ต้องมีบันไดเพราะเหาะไปมาได้ เรื่องเสาเดียวนี้บางท่านก็ผนวกเข้ากับเรื่องคติเขาพระสุเมรุ แม้ในตำนานของพระภูมิเจ้าที่มีพระชัยมงคลเป็นพระภูมิบ้าน หรือพระเจ้ากรุงพาลีพระภูมิเจ้าที่ในชาดกพุทธศาสนาจะไม่มีกล่าวถึง

คนพื้นเมืองดั้งเดิม เชื่อว่าผีหรือวิญญาณมีอยู่ทุกที่ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์และคนตาย เมื่อผีกลายเป็นผู้มีอำนาจที่จะดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีร้ายกับชีวิตมนุษย์ การทำให้ผีพึงพอใจเพื่อให้คนอยู่ห่างจากสิ่งร้ายจึงสำคัญยิ่งในวัฒนธรรมสังคมนับถือผี และหลักการนี้ยังเป็นที่มาของการสร้างที่สถิตเป็น หอ เรือน สำหรับผี รับเครื่องพลีกรรมบวงสรวงจากคนเพื่อขอขมา อนุญาต หรือบอกกล่าว ให้กิจกรรมที่จะทำหรือพื้นที่นั้นๆดำเนินสำเร็จไปด้วยดีไม่มีเรื่องร้ายติดขัด

ศาลผีหรือศาลเพียงตาแต่เดิมเหล่านี้ มีทั้งแบบเสาเดียวหรือสี่เสา สร้างให้สอดคล้องกับความเชื่อถือ ความสะดวก และสภาพแวดล้อม เช่น ผีบรรพชนหรือผีปู่ย่าตายาย ควรอยู่ในที่ที่คล้ายเมื่อครั้งมีชีวิต ศาลผีประเภทนี้จึงมักมีหน้าตาเหมือนเรือนหลังเล็กๆตั้งบนเสาทั้งสี่ ส่วนผีที่อยู่ในธรรมชาติทั่วไป ตั้งศาลบนสี่เสาบ้างเสาเดียวบ้างไม่มีกฏตายตัว

เมื่อศาสนาพุทธ พราหมณ์ ฮินดู อิสลาม คริสต์ มาถึงอุษาคเนย์ ดินแดนแถบนี้ก็ยังนับถือศาสนาผีดั้งเดิมไปพร้อมๆกับระบบศาสนาใหม่จากภายนอกถึงทุกวันนี้

ดังนั้นศาลผี อย่างศาลเพียงตา ที่เรียกด้วยชื่อท้องถิ่นต่างๆกัน จึงมีอยู่ทั่วไปในอุษาคเนย์ และควรมีมาก่อนศาลพระภูมิเทวดา อย่างที่ไทยมักเรียกผีแล้วต่อท้ายด้วยอาณาบริเวณที่ดูแล เช่น ผีเจ้าที่ ผีนา ผีบ้าน ผีเรือน

 

 

ที่มา : เพจ คนกรุงเก่าเล่าเรื่อง

ความเห็นถูกปิด