เรื่องเล่าวัดหลอน.. ตอนที่ 3

269

เรื่องเล่าวัดหลอน.. ตอนที่ 3

จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาวัดเมืองเพื่อตรวจวัด เมื่อเห็นสภาพที่เสื่อมโทรมมาก พระองค์จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อซ่อมแซมวัดจนอยู่ในสภาพดีดังเดิม พร้อมพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ประดับไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่เป็น “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์”
เล่ากันว่าแม้สภาพของวัดเมืองจะถูกปรับปรุงให้สวยงาม มีชีวิตชีวาดังเดิมแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวความเฮี้ยนของ “ผีอั้งยี่” ก็ยังคงมีต่อเนื่องตลอดเวลาจนสมาคมจีนใน จ.ฉะเชิงเทรา ต้องทำพิธีปลดปล่อยวิญญาณอั้งยี่ที่ทนทุกข์ทรมานให้ไปเกิดจึงจัดพิธีล้างป่าช้าขึ้นที่วัดเมืองถึง 2 ครั้ง และในการขุดครั้งแรก พอบรรดาเซียนได้เขียนชื่อปักธง ขุดเอาโครงกระดูกขึ้นมาทำพิธีก็ได้พบหลักฐานยืนยันถึงการประหารชีวิตนักโทษอั้งยี่อย่างชัดเจน

ศพหลายศพถูกขุดพบพร้อมโซ่ตรวน เครื่องพันธนาการ ศพจำนวนมากศีรษะหาย บางศพแขน ขาขาดอวัยวะไม่ครบสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าคงเป็นศพที่ตายระหว่างการสู้รบ นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับประเภทแหวนหยก ป้ายหยก ที่ติดตัวศพในสภาพที่ชำรุด ศพถูกนำมาชำระล้างทำความสะอาดเพื่อนำไปประกอบพิธีทางจีน คือการส่งวิญญาณ โดยครั้งนั้นชาวจีนสกุลแซ่ต่างๆ ในฉะเชิงเทราและชลบุรี มาร่วมเป็นเจ้าภาพอย่างมากมาย
แต่แม้ว่าทางสมาคมชาวจีนจะทำการล้างป่าช้าแล้วก็ตาม ปรากฏว่าเรื่องราวของ “ผีอั้งยี่” ที่วัดเมืองก็ยังไม่เลิกเฮี้ยน จึงต้องทำพิธีล้างป่าช้าเป็นครั้งที่ ๒ โดยเปลี่ยนองค์เซียนซือใหม่ จากนั้นความเฮี้ยนจึงค่อยๆเบาบางลง แต่ก็ยังมีผู้เจอวิญญาณบางดวงอยู่ที่โคนต้นจันทน์ซึ่งเป็นที่ตั้งหลักประหาร จนต้องไปให้ผู้มีญาณตรวจดูจึงรู้ว่ายังมีวิญญาณอีกหลายดวง ที่คงสิงสถิตอยู่กับหลักประหาร หากจะให้วิญญาณเหล่านี้สงบก็ต้องทำพิธีขุดเอาเสาหลักประหารขึ้นมาจากดิน และทำพิธีสะกดวิญญาณพร้อมทั้งต้องปรับพื้นที่บริเวณนั้นให้เสมอกัน เทปูนปิดทับรอยหลักประหารให้หมด แล้วความเฮี้ยนหรืออาถรรพ์ทั้งหลายก็จะค่อยๆหมดไป
สำหรับต้นจันทน์ที่เคยเป็นจุดปักหลักประหารนี้ปัจจุบันก็ยังคงอยู่และผู้นำรูปหล่อของ “พ่อปู่ชีวกโกมารภัจจ์” มาตั้งไว้เพื่อแก้เคล็ดบางอย่าง โดยเชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ประหารชีวิตคนจึงต้องให้ปูชีวกฯ มาช่วยชีวิตคน “วัดเมือง” ในปัจจุบันมีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ โดยกรมศิลปากรได้มาสำรวจ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของ จ.ฉะเชิงเทรา ในบริเวณวัดด้านข้างวิหารก็เป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อไกรสร หรือศาลเจ้าพ่อกรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งภายในศาลมีรูปหล่อของท่านในชุดแม่ทัพ ใครผ่านไปผ่านมาที่เคยทราบประวัติของวัดดีก็มักจะมาสักการะ ในฐานะที่ท่านได้สร้างวัดนี้ขึ้น และถือว่าเป็นศาลเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของฉะเชิงเทรา
เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตำนานความเฮี้ยนของหลายร้อยดวงวิญญาณ ที่แม้จิตจะละจากร่างเดิมแล้วก็ยังไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ เพราะจิตยังคงยึดติดอยู่กับโลกมนุษย์ นั่นเพราะ “อารมณ์สุดท้าย” เมื่ออยู่ในภาวะใกล้ตายเป็น “อกุศล” โกรธ เคียดแค้น กลัว ผูกพัน ห่วงหา หรือเสียใจอย่างหนัก ดังนั้น หากว่าเราทุกคนต้องการจะจากไปสู่ “โลกหลังความตาย” อย่างสุขสงบแท้จริง เราจำต้อง “ปล่อยวาง” ตัดตนและทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี และเคยเป็นบนโลกไว้ข้างหลัง

 

ที่มา : peepeestory
https://xfile.teenee.com/ghost/3071.html

ความเห็นถูกปิด