เรื่องเล่า นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ “ปมาสี่สี่” ตอนที่ 1 

172

เรื่องเล่า นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ “ปมาสี่สี่” ตอนที่ 1

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญเรื่อง “ปมาสี่สี่” แปลโดยอาจารย์จวน เครือวิชฌยาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมของชาวมอญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานคติธรรมเรื่องนี้ ความว่า…….

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้าชื่อ “ตัณหังกร” โน้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า “ป่าชัญญวนา” มีภูเขาใหญ่เทือกหนึ่งชื่อว่า “วิชฌุบรรพต” มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า “ทัสสนะสาคร” ในป่าใหญ่แห่งนั้น มีสัตว์ต่างๆ ดังนี้
ช้างโขลงใหญ่ จำนวน 500 เชือก ณ ชายป่าแห่งนั้น
มีกบฝูงใหญ่ จำนวน 500 ตัว ในแม่น้ำใหญ่ทัสสนะสาคร
มีปูฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว แถบเชิงเขาแห่งนั้น
มีงูอาศัยอยู่อีก 500 ตัว บนยอดเขาใหญ่วิชฌุบรรพต
มีครุฑฝูงใหญ่พักอาศัยอยู่ 500 ตัว มีพระโพธิสัตว์เป็นพญาครุฑปกครองครุฑทั้งหลายฝูงนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง โขลงช้างทั้ง 500 ตัว ได้พากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ปูทั้ง 500 ตัวซึ่งอยู่ในแม่น้ำนั้นก็จับโขลงช้างนั้นกินเสียหมด รอดชีวิตแต่นางพญาช้างเผือกเชือกเดียวซึ่งมีท้องแก่ครบกำหนดวันคลอด ที่ไม่สามารถเดินทางรวมไปกับโขลงได้ คลอดลูกออกมาเชือกหนึ่ง แม่ช้างก็ได้เลี้ยงดูกันต่อมา

เมื่อปู 500 ตัวกินช้างเสียหมดแล้ว ปูฝูงนั้นก็ไม่สามารถหาอาหารอะไรมากินได้อีก จึงพากันขึ้นจากแม่น้ำขึ้นบนฝั่งเพื่อหาอาหารกิน ฝ่ายกบ 500 ตัวที่อยู่บนฝั่งเห็นปูขึ้นมาจากแม่น้ำ ก็จับกินเป็นอาหารหมดสิ้น เว้นแต่นางพญาปูตัวหนึ่งไปไม่ไหวท้องแก่ครบกำหนดคลอดจึงรอดชีวิตและคลอดลูกปูออกมาตัวหนึ่ง

เมื่อกบ 500 ตัวกินปูหมดแล้วก็ไม่มีอาหารอื่นในที่แห่งนั้นกินอีก กบจึงพากันไปหาอาหารกินแถบเชิงเขาลูกนั้น งู 500 ตัว เห็นปะเหมาะอาหารมาถึงปาก จึงจับกบฝูงนั้นกินเสียหมด เหลือนางพญากบตัวหนึ่งรอดชีวิตไม่ได้ไปเพราะคลอดลูกกบออกมาตัวหนึ่ง

ครั้นเมื่องูทั้งหลายกินกบหมดแล้ว ก็ไม่มีอาหารที่จะกินต่อไป จึงหากันออกไปหาอาหารกินเชิงภูเขา ครุฑทั้งฝูงที่อยู่บนยอดเขาแห่งนั้นเห็นงู จึงโผบินลงมาจับงูกินเสียสิ้น เว้นนางพญางูตัวเดียวออกลูกอยู่ไม่ได้ไป จึงรอดจากความตาย

*******************************************
ที่มา
จวน เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา”. (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : http://rb-history.blogspot.com/search/label/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99

ความเห็นถูกปิด