เรื่องเล่า นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ “ปมาสี่สี่” ตอนที่ 2

368

เรื่องเล่า นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ “ปมาสี่สี่” ตอนที่ 2

ลูกช้าง ลูกปู ลูกกบ และลูกงู
สัตว์ทั้งสี่นี้ ผู้เป็นแม่นางพญาต่างๆ ก็หมั่นพร่ำสอนลูกของตนอยู่เป็นประจำว่า

“ลูกเอย เจ้าอย่าได้ท่องเที่ยวไปในที่ภูมิประเทศนั้นๆ นะลูก เพราะมีศัตรูคอยจ้องปองร้ายจับกิน พวกพ่อแม่พี่น้องและบริวารเราทั้งหลายถูกมันจับกินไปหมดแล้ว ขอลูกจงอย่าไปเล่น หลีกเร้นไปให้ไกลในแห่งนั้นนะลูก”

ข้อความนี้แม่ก็ไม่เว้นพร่ำสอนลูกตนตลอดเวลา ต่อมามิช้านาน ลูกสัตว์ทั้วสี่ตัวก็เจริญเติบโตขึ้น มีพละกำลังวังชามากกล้าแข็งเต็มตัว ต่างคิดกำเริบเหมือนกันว่า

“ที่แม่ของเราห้ามเรานั้น เพราะในสถานที่นั้นมีข้าศึกศัตรูของเรา เราจึงอยากพบเห็นศัตรูตัวนั้นแท้ๆ ”

จึงฝ่าฝืนคำสั่งสอนของแม่ ขัดใจแม่ออกไปท่องเที่ยวเล่นตามสถานที่แห่งนั้น

ในบรรดาลูกสัตว์ทั้งสี่ มีลูกช้างลงไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ลูกปูฝืนคำสั่งสอนของแม่ขึ้นไปท่องเที่ยวเล่นบนฝั่งแม่น้ำ ลูกกบฝืนคำสั่งสอนของแม่ออกจากใบไม้ กิ่งไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกงูก็เช่นกัน ฝืนคำสั่งสอนของแม่ท่องเที่ยวเลื้อยขึ้นไปบนยอดภูเขา

ลูกช้างที่ท่องเที่ยวเล่นไปในแม่น้ำถูกลูกปูเอาก้ามหนีบเอาเท้าไว้ ด้วยความแข็งแกร่งรีบลากลูกช้างขึ้นบนฝั่งทั้งที่หนีบเท้าอยู่ ครั้นลูกกบเห็นเข้าก็วิ่งไล่ตามลูกปู ลูกปูตกใจกลัวลูกกบ จึงปล่อยลูกช้าง ลูกงูเห็นลูกกบวิ่งไล่จะจับกิน ลูกกบตกใจกลัวลูกงู จึงปล่อยลูกปูไป ครุฑที่อยู่บนยอดเขามองลงไปเห็นลูกงู จึงบินโฉบลงมาเฉี่ยวลูกงูกิน ลูกงูตกใจกลัวครุฑจึงได้ปล่อยลูกกบวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้

เหตุที่เกิดนี้ เพราะลูกสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ ไม่เชื่อฟังแม่จึงตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ดหลาบ ลำพองใจของลูกสัตว์ทั้งสี่ตัวนั้นเลย

ลูกช้างมันกล่าวว่า “แม่น้ำที่เราลงไปเล่นปูก็หนีบเท้าเรา แต่ปูถูกกบไล่จับกิน เราก็พ้นจากอันตราย ปูคงกลัวกบจะไม่กล้ามาหนีบเท้าเราอีก”

ลูกปูกล่าวในทำนองเดียวกันว่า “ในสถานที่เราท่องเที่ยวไปนั้นมีงู กบคงไม่กล้ามาอีกแล้ว”

ลูกกบกล่าวว่า “ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น มีครูฑอยู่ งูหรือจะกล้ามาอีก”

ลูกงูกล่าวว่า ” ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น ครุฑหรือจะมาได้ทุกๆ วัน”

เมื่อเป็นอย่างว่า สถานที่นั้นก็ไปได้เสมอ ลูกสัตว์ทั้งสี่ลำพองใจจึงไปสถานที่นั้นๆ อีก ครั้นลูกช้างไปถึงแม่น้ำ ก็มีความเกรงกลัวจึงเพียงแต่เอางวงแกว่งน้ำเล่นก่อน ในขณะนั้นเองลูกปูก็หนีบได้งวงลูกช้างลากจูงขึ้นไปบนฝั่ง ลูกปูก็กินลูกช้างเสียเป็นอาหารบนฝั่งนั้น เมื่อลูกช้างเข้าไปในท้อง เกิดหนักท้อง หนักตัว ลูกปูวิ่งไปได้ไม่รวดเร็ว ลูกกบเห็นลูกปูเข้าก็กระโดดมาจับลูกปูกิน ทั้งช้างทั้งปูเข้าไปอยู่ในท้อง ลูกกบตัวหนักมากกระโดดไม่ไหว ฝ่ายลูกงูเห็นลูกกบก็จับลูกกบกินเสียอีกต่อหนึ่งอีก เมื่อทั้งช้าง ปู กบ เข้าไปอยู่ในท้องลูกงู มีน้ำหนักมากเหลือกำลังที่จะเลื้อยต่อไปได้ ครุฑเห็นโอกาสเหมาะโฉบเฉี่ยวเอาไปกินเสียทั้งหมดเลย

*******************************************
ที่มา
จวน เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา”. (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : http://rb-history.blogspot.com/search/label/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99

ความเห็นถูกปิด