เรื่องเล่า สำนวน “เห็นชายผ้าเหลือง “
ประเพณีการบวช เป็นประเพณีไทยสืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธของพุทธศาสนิกชน โดยตามประเพณีปฏิบัติในการบวชนั้น ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท เพื่อศึกษาพระธรรมให้เข้าใจชีวิตและสามารถนำมาใช้ในการครองชีวิตต่อไปในภายหน้าอย่างสงบสุขและมีสติ
การบวชนิยมบวชตามประเพณีในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา เพื่อที่จะได้สามารถอยู่ศึกษาพระธรรมตลอดระยะเวลาเข้าพรรษาเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน และจะลาสิกขาเมื่อพ้นวันออกพรรษาแล้ว หรือจะบวชต่อไปก็ได้แล้วแต่ความสะดวก หากไม่ได้บวชในช่วงเข้าพรรษาก็สามารถบวชในระยะเวลาที่สะดวก โดยส่วนใหญ่จะบวชประมาณ 15 วัน หรือ 1 เดือน นอกจากนี้ยังมีการบวชหน้าไฟ คือการบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว โดยจะบวชตอนเช้าในวันที่มีการเผาศพนั่นเอง เป็นการบวชแบบบวชเช้า สึกเย็น หรือจะบวช 3 วัน 7 วัน หรือมากกว่านั้นก็ได้
คนไทยมีความเชื่อว่าการที่บุตรชายได้บวชจะทำให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ และการบวชถือเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดาด้วย โดยนิยมบวชก่อนที่จะมีครอบครัว เนื่องจากความเชื่อว่าถ้าบวชภายหลังบุญกุศลจะตกแก่ภรรยาไม่ใช่บิดามารดา มีตัวอย่างในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อพลายแก้วมาแจ้งกับนางทองประศรีว่าจะแต่งงานกับนางพิมพิลาไลย
ทองประศรีว่ากรรมเอ๋ยกรรมแล้ว
พ่อแก้วแก้วตาของแม่เอ๋ย
บวชก่อนเถิดอย่าเพ่อมีเมียเลย
แม่จะได้ชมเชยชายจีวร
พ่อเจ้าเขาก็ตายไปนานแล้ว
ลูกแก้วจงโปรดแกเสียก่อน
บวชสักสองพรรษาอย่าอาวรณ์
สึกมาแม่จะผ่อนให้มีเมีย
มีเรื่องเล่าในหนังสือสุบินกลอนสวดว่า เจ้าสุบินซึ่งบวชเณร มีแม่เป็นคนใจบาป วันหนึ่งพระยามารให้ยมทูตมาตรวจผู้คนในเมืองมนุษย์ว่ามีใครประกอบกรรมทำบาปอะไรบ้าง ยมทูตมาพบแม่เณรสุบินนอนหลับอยู่ จึงนำตัวไปให้พระยายมชำระ ปรากฏว่าทำแต่บาปไม่เคยทำบุญ พระยายมราชให้ลงโทษทิ้งในหม้อไฟ นางแลเห็นไฟนรกก็ตกใจกลัว
กาพย์ฉบัง 16
นางเจ็บร้องไห้ร่ำไร แลเห็นชุดไฟ
ตกใจเพียงจักม้วยมรณ์
นางว่าแสงเพลิงเหลืองอ่อน เหมือนชายจีวร
ลูกกูผู้บวชเป็นเณร
เมื่อนึกถึงลูกที่บวชเณรก็บันดาลให้เกิดดอกบัวทองขึ้นมารองรับนางและไฟนรกก็ดับหมด พระยายมราชจึงส่งกลับมาเมืองมนุษย์ และบอกว่าบุญที่ลูกบวชจะได้ไปสวรรค์ ฝ่ายบิดาของเจ้าสุบินตายไปเป็นเปรตมาพบลูก อาจารย์ก็แนะให้เจ้าสุบินบวชเป็นพระเพื่อโปรดพ่อให้พ้นบาป จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าบิดามารดาจะได้รับบุญกุศลอันประเสริฐเมื่อลูกได้บวชในพุทธศาสนา ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชายจึงต้องบวชทดแทนคุณบิดามารดา เพื่อให้ได้ ” เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์”
ในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น พลายแก้วทำได้เพียงบวชเณรเมื่ออายุ 15 ปี การบวชเณรในครั้งนั้นทำให้พลายแก้วได้เรียนรู้วิชาการต่างๆมากมาย เช่น เรียนภาษาบาลี ฝึกเทศน์มหาชาติ ศึกษาตำราพิชัยสงคราม ศึกษาวิชาดูฤกษ์ยาม วิชาอยู่ยงคงกระพัน และเวทย์มนต์คาถาต่างๆ หลังจากนั้นก็สึกออกมาเพื่อแต่งงาน ไม่ได้มีโอกาสบวช พระซึ่งจะทำให้บิดามารดาได้รับกุศลบุญแรง
ส่วนผู้ที่ได้บวชเป็นพระในเรื่องขุนช้างขุนแผน คือ พลายงาม แต่เป็นการบวชแบบบวชหน้าไฟเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่นางวันทองมารดาผู้ถูกประหารชีวิต หลังเสร็จงานศพแล้วก็ลาสิกขาบท ผลบุญจากการบวชหน้าไฟของพลายงามคงจะยังไม่มากพอ นางวันทองจึงต้องไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย
สำนวน “เห็นชายผ้าเหลือง ” หมายถึง ได้บุญกุศลเมื่อเห็นลูกบวชในพุทธศาสนา
ที่มาของสำนวน ” เห็นชายผ้าเหลือง” ผ้าเหลือง หมายถึง ไตรจีวร ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุ ประกอบด้วย สบง จีวร สังฆาฏิ ซึ่งคนไทยมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าบุญกุศลจากการบวชในพุทธศาสนาของบุตร จะส่งผลให้บิดามารดาได้ขึ้นสวรรค์
ตัวอย่าง
ถึงฉันจะตายก็ไม่ว่า แต่ขอบวชลูกให้ได้เห็นชายผ้าเหลืองก่อน จะได้นอนตายตาหลับ
ขอบคุณภาพประกอบจากละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า และภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ความเห็นถูกปิด