เล่าขานตำนานสงกรานต์ไทย กับเกร็ดน่ารู้ในงานเทศกาลสงกรานต์ ตอนที่ 2
ประเพณีนิยมในเทศกาลสงกรานต์ไทยในอดีต หญิงสาวจะแต่งกายด้วยผ้าไทย ส่วนผู้ชายจะใช้เสื้อลายดอกสีสันสดสวย และผูกผ้าขาวม้าที่เอว กิจกรรมสำคัญคือการทำบุญตักบาตร ,การสรงน้ำพระ, การรดน้ำผู้ใหญ่, การปล่อยนกปล่อยปลา และการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญแล้ว ยังมีการละเล่นแบบไทยๆ อาทิ ว่าว ม้าก้านกล้วย รวมทั้งอาหารและขนมไทย อาทิ ข้าวแช่ กะละแม ขนมจ๊อก ลูกชุบ เป็นต้น หรือการประดิษฐ์น้ำอบน้ำปรุง และดินสอพอง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในเทศกาลสงกรานต์
ว่ากันว่า ดินสอพอง หรือ มาร์ลสโตน จัดอยู่ในสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ หรือเรียกว่าเครื่องยาธาตุวัตถุ เป็นยาสมุนไพรเก่าแก่ปรากฏมีอยู่ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” คนโบราณมักใช้นำมาทำแป้งประร่างกายเพื่อให้เย็นสบาย เมื่อผสมน้ำหอมเข้าไปด้วยกลายเป็นแป้งกระแจะ มีสรรพคุณแก้ผิวหนังแพ้ ลมพิษ ผด ผื่น และคัน และเป็นยาห้ามเหงื่อทำให้ร่างกายเย็นสบายไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะ สามารถป้องกันแดดและยังช่วยขจัดสิวเสี้ยนอีกด้วย
การนำมาดินสอพองมาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นหน้าร้อนจึงเป็นภูมิปัญญาสำคัญประการของคนในสมัยโบร่ำโบราณ
แต่ ปัจจุบันวันสงกรานต์ในความหมายสากล ได้มีความหมายบิดเบือนไปจากอดีตมาก จนเกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น “Water Festival” ซึ่งมีความหมายเพียงการเล่นสาดน้ำเท่านั้น แท้จริงแล้ววันสงกรานต์ไม่ได้มีกิจกรรมเพียงแค่การสาดน้ำเท่านั้น
นอกจากนี้จากจุดเริ่มต้นของถนนข้าวสาร ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างคึกคัก ทำให้จังหวัดอื่นๆ ได้นำชื่อไปตั้งเป็นถนนสารพัดข้าว จนทุกวันนี้มีถนนข้าวแปลกๆ นับสิบชื่อ อาทิ ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี, ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี, ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง, ถนนข้าวกล่ำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และถนนข้าวแต๋น จังหวัดน่าน เป็นต้น
รู้หรือไม่ว่าที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ชาวเกาะสีชังจึงไม่นิยมเล่นสาดน้ำ จึงเกิดประเพณี สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ เป็นการละเล่นท้องถิ่นที่ให้หนุ่มๆ อุ้มสาวลงน้ำบริเวณชายหาด โดยมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ของเทศกาลสงกรานต์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บอกเล่าให้ทุกท่านได้เรียนรู้ในเทศกาลสงกรานต์
ที่มา : https://news.thaipbs.or.th/content/161270
ความเห็นถูกปิด