ไม่มีแล้ว “มณีโคตร” ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งคอนพะเพ็ง หนึ่งเดียวในโลก ตอนที่ 1

169

ไม่มีแล้ว “มณีโคตร” ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งคอนพะเพ็ง หนึ่งเดียวในโลก ตอนที่ 1

“น้ำตกคอนพะเพ็ง”

เป็นน้ำตกเลื่องชื่อของแขวงจำปาสัก สปป.ลาว แม้จะเรียกว่าน้ำตก แต่จริงๆ แล้วคอนพะเพ็งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำโขง โดยคำว่า “คอน” ในภาษาลาว หมายถึง “แก่ง” นั่นเอง โดยคอนพะเพ็งถือเป็นคอนหรือแก่งขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในแม่น้ำโขง ส่วน “พะเพ็ง” นั้นหมายถึง “พระจันทร์วันเพ็ญ”

แก่งบริเวณคอนพะเพ็งเป็นแก่งขนาดใหญ่ ความสูงของแก่งกว่า 10 เมตร ทำให้สายน้ำโขงที่ไหลบ่ามาในบริเวณนี้เชี่ยวกรากดุดัน ยิ่งเมื่อสายน้ำกระโจนลงสู่แก่งหินเบื้องล่างอย่างรุนแรงเกิดเป็นน้ำตกอันยิ่งใหญ่ตระการตา จนได้ชื่อว่าเป็น “ไนแองการ่าแห่งเอเชีย”

รูปถ่ายต้นมณีโคตรที่เด็กๆ นำมาขายเป็นของที่ระลึกที่น้ำตกคอนพะเพ็ง

 

นอกจากความสวยงามอลังการแล้ว อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อยู่คู่น้ำตกคอนพะเพ็ง คือ “ต้นมณีโคตร” หรือมะนีโคด ในภาษาลาว เป็นต้นไม้เก่าแก่สันนิษฐานว่ามีอายุหลายร้อยปีหรืออาจถึงพันปี ขึ้นอยู่บนแก่งหินกลางแม่น้ำโขง ชาวลาวนับถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์และเชื่อว่ามีต้นเดียวในโลก ตามตำนานเรียกว่าเป็น “ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น” โดยหากเอาด้านหัวของกิ่งชี้ไปที่ใครคนนั้นก็จะตาย แต่หากใช้ด้านปลายของกิ่งชี้คนตายก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

แกนของกิ่งต้นมณีโคตรหากตัดดูจะเห็นเป็น 3 สี คือสีนวลเหมือนไข่ไก่ สีม่วง และสีชมพู เป็นที่มาของชื่อมณีโคตร

รูปถ่ายอีกมุมหนึ่งของต้นมณีโคตร

มณีโคตรต้นนี้ มองด้านหนึ่งคล้ายเขาควาย มี 3 กิ่งหลักๆ กิ่งหนึ่งหันไปฝั่งลาว ชาวลาวเชื่อว่าใครได้กินผล (หมาก) ที่เกิดจากกิ่งนี้จะแก่ชราขึ้น กิ่งหนึ่งหันไปทางเขมร เชื่อว่าใครกินผลของกิ่งนี้จะกลายเป็นลิง และอีกกิ่งหนึ่งหันไปทางฝั่งไทย เชื่อว่าใครที่ได้กินผลจากกิ่งนี้ จะหนุ่มขึ้น เยาว์วัยขึ้น บ้างก็ว่าไม่ว่ากินจากกิ่งไหนก็จะมีกำลังวังชาเหนือมนุษย์ และบ้างก็เชื่อว่าปลายกิ่งทั้งสามที่ชี้ไปทางกัมพูชา ไทยและลาว หมายถึงว่าทั้งสามประเทศจะเจริญเป็นมรกตแห่งอินโดจีน แต่ก็ยังไม่เคยมีใครได้กินผลจากกิ่งใดเลย เพราะสายน้ำเชี่ยวกรากทำให้ไม่เคยมีใครเข้าไปถึงต้นมณีโคตรต้นนี้ ยกเว้นนกกระยางขาวและอีกาที่มักจะบินไปเกาะอยู่เต็มต้นมณีโคตรทุกๆ วันพระ

ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9550000099952
หมายเหตุ : ตำนานและความเชื่อต่างๆ เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่น บางเรื่องอาจพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และเป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญานในการอ่าน

ความเห็นถูกปิด