ไหว้พระนอน 10 วัด ทำบุญเสริมมงคล
1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2375 เป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะงดงามโดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาท และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งยังนับเนื่องอยู่ในคติการไหว้พระ 9 วัด ของพุทธศาสนิกชน โดยมีคติว่าจะได้ร่มเย็นเป็นสุข
2. วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
พระนอนวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ประดิษฐานอยู่ ณ ห้องประชุมตึกไชยันต์ บนชั้น 6 ของอาคารไชยันต์ ในโรงเรียนวัดราชาธิวาส ซึ่งสร้างขั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ งดงามด้วยศิลปะประยุกต์แบบกรีก เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด พระวรกายคล้ายคนทั่วไป กล่าวคือดูมีความสมจริง จีวรพลิ้วไหวเป็นริ้ว พระพักตร์หลับนิ่งสงบ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งองค์พระนอนที่สวยที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทยเลยทีเดียว
3. วัดพระพุทธไสยาสน์ จังหวัดเพชรบุรี

ตั้งอยู่บนถนนคีรีรัถยา เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่าเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยา ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ อายุกว่า 400 ปี เดิมสร้างไว้กลางแจ้ง ต่อมาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาสังกะสีคลุมไว้ เมื่อคราวเสด็จประพาสยังพระนครคีรี และในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลังคาคลุมองค์พระนอนใหม่ พร้อมทำผนังรอบองค์พระดังที่เห็นในปัจจุบัน
4. วัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง
ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง ไฮไลต์สำคัญของวัดก็คือ “พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศ” ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้หักพังไปเหลือแต่องค์พระ มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม แลดูสงบเยือกเย็น เป็นที่น่าเลื่อมใสของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่นับถือศรัทธา รวมถึงพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ได้เคยเสด็จมาสักการบูชา เช่น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2296, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ในปี พ.ศ. 2421 และ พ.ศ. 2451 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐินในปี พ.ศ. 2515 และเสด็จฯ มานมัสการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518
5. วัดโลกยสุธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ทรงเครื่ององค์ใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ของอยุธยา ก่ออิฐถือปูน ที่พระเศียรมีดอกบัวรองรับ พระบาทซ้อนกันเป็นมุมฉาก นิ้วพระบาทยาวเท่ากัน ส่วนการที่ได้จะได้มาเห็นองค์พระสวมจีวรสีส้มขนาดใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าช่วงที่ผ่านมานั้นมีผู้ตัดมาถวายหรือไม่ ซึ่งก็เกิดแล้วแต่โอกาส โดยทุก ๆ ปี ในช่วงเดือนเมษายนจะมีการจัดงานบุญนมัสการพระพุทธไสยาสน์และห่มผ้าหลวงพ่อ ให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาได้เข้ามาร่วมงานและทำบุญด้วยกันนั่นเอง
6. วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่สุดวัดหนึ่ง ความน่าสนใจอยู่ที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งสร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อใช้เป็นที่สักการบูชาและปฏิบัติพระกรรมฐาน ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ในปี พ.ศ. 2508 นอกจากนี้บริเวณรอบ ๆ วัดยังมีมีสวนหย่อมที่สวยงามเอาไว้ให้พักผ่อนอีกด้วย
7. วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี
ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ ภายในมีพระพุทธไสยาสน์สลักจากหิน โดยจุดเด่นของพระพุทธรูปองค์นี้แปลกว่าที่อื่นตรงที่เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในลักษณะนอนหงาย ยาวประมาณ 2 เมตร คล้ายกับพระนอนที่เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้บริเวณโดยรอบวัดยังมีการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและไม้ประดับ ทำให้วัดดูร่มรื่นสวยงาม และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี
8. วัดพระนอน จังหวัดแพร่
ตั้งอยู่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ ตัวพระอุโบสถเป็นการผสมผสานงานสถาปัตยกรรมระหว่างเชียงแสน สุโขทัย และอยุธยาตอนปลายที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ประดับสวยงามด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา ที่แกะสลักด้วยไม้ลวดลายงดงาม วิหารตกแต่งชายคาด้วยไม้ฉลุโดยรอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทองทั้งองค์ นับเป็นโบราณสถานงดงาม ทั้งยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของของบรรดาพุทธศานิกชนทุกหมู่เหล่า
9. วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี จังหวัดแพร่
ตั้งอยู่ที่อำเภอเด่นชัย งดงามด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นที่รวมงานศิลปะและจำลองงานศิลป์ชั้นยอดของล้านนาจากหลายแหล่งหลายจังหวัด ทั้งในไทยและสิบสองปันนาในมณฑลยูนานของจีน ได้แก่ เมียนมา จีน และลาว ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมบนฝาผนังระเบียงคต เป็นเรื่องราวของชาดกพื้นบ้านและภาพพุทธประวัติ รวมถึงพระพุธไสยาสน์ พระพุทธศิลป์แบบเมียนมา ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าวัด และสิงห์คู่เชิงราวบันไดพญานาค ซึ่งเป็นทางเดินขึ้นสู่พระธาตุ ล้วนแล้วสวยงามวิจิตรเกินคำบรรยาย
10. วัดพระนอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตั้งอยู่เชิงดอยกองมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สร้างขึ้นโดยพญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืององค์แรกของแม่ฮ่องสอน ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบเมียนมา ทั้งนี้มูลเหตุในการสร้างพระพุทธไสยาสน์ ทั้งหมด 2 ประการ ได้แก่ ประการแรกเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอน และประการที่สอง คือพญาสิงหนาทราชา ท่านเป็นผู้เกิดวันอังคาร จึงสร้างองค์ไสยาสน์ขึ้นให้เป็นพระประธานคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองแม่ฮ่องสอน แต่ก็สร้างไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองแถวชายแดนไม่คอยสงบ และพอพญาสิงหนาทราชาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2427 เจ้านางเมี๊ยะขึ้นครองเมืองแทน จึงสร้างองค์พระนอนต่อจนสำเร็จ และจัดงานฉลองครั้งยิ่งใหญ่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com
ความเห็นถูกปิด