ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง เสริมสิริมงคลให้ชีวิต
วันนี้เราเลยจะชวนเพื่อน ๆ เดินทางไป “ไหว้พระ 9 วัด อ่างทอง” ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นสิริมงคลกันค่ะ
1. วัดท่าสุทธาวาส

ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น บริเวณนี้เดิมทีเป็นเส้นทางเดินทัพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ปัจจุบันสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชอุปถัมภ์ มีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับกลางสระน้ำ พระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ
ภายในพระอุโบสถสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โปรดเกล้าให้จิตรกรส่วนพระองค์ และนักเขียนในโครงการศิลปาชีพ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้อย่างงดงาม ซึ่งประกอบด้วย ภาพไตรภูมิ ภาพเรื่องมหาชนก ภาพลายรวงข้าว สัญลักษณ์ของจังหวัดอ่างทอง ภาพเรื่องสงครามยุทธหัตถี เป็นต้น โดยมีภาพผลมะม่วง 4 ผล ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์อยู่บนผนังโบสถ์ทางด้านซ้ายมือด้วย
นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปประธานเป็นหินทรายปั้นปูนปิดทองทับ พระประธานองค์นี้ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อยิ้ม” เพราะมีพุทธลักษณะคล้ายพระกำลังอมยิ้ม เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ
2. วัดอ่างทองวรวิหาร
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นวัดเล็ก ๆ 2 วัด ชื่อวัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทอง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้รวมวัดสองวัดเป็นวัดเดียวกัน และพระราชทานนามว่า “วัดอ่างทอง” วัดนี้มีพระอุโบสถที่งดงาม มีพระเจดีย์ทรงระฆังประดับด้วยกระจกสีและหมู่กุฏิทรงไทยสร้างด้วยไม้สักงดงามเป็นระเบียบ ซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระประธานในพระอุโบสถสร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นพระปางมารวิชัย เป็นพระประธานคู่กับวัดมาแต่เดิม
3. วัดม่วง
ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวสะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ เดิมทีเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2230 แขวงเมืองวิเศษชาญ ซึ่งเคยได้เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาได้เสียกรุงให้แก่พม่า พม่าได้เผาผลาญบ้านเมือง วัดวาอาราม และพระพุทธรูปไปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือซากปรักหักพังของวัดวาอารามและพระพุทธรูปที่อยู่บนเนินมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ได้มาปักกลดธุดงค์เห็นว่าบริเวณนี้เคยเป็นวัดร้างจึงน่าปฏิบัติธรรม แต่ขณะปฏิบัติธรรมได้ปรากฏนิมิตเห็นองค์หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แดง มาบอกว่าให้ท่านได้ช่วยก่อสร้างวัดม่วงขึ้นมาใหม่ เพราะท่านพระครูเป็นผู้มีบารมี ที่สามารถจะก่อสร้างบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่ได้ด้วย และในบริเวณวัดร้างนี้จะมีศิลาขาวและศิลาแดงอยู่ คือองค์ของหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดง ซึ่งต่อมาท่านพระครูวิบูลอาจารคุณได้มีการปั้นองค์พระครอบศิลาขาวและศิลาแดงไว้ โดยเรียกนามว่าหลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดงจนถึงปัจจุบันนี้
ในปี พ.ศ. 2526 ท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ ได้มีการเริ่มบูรณะและได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้น โดยได้รับการบริจาค ทั้งเงินทำบุญ และทำบุญด้วยแรงงาน ร่วมกันดำเนินงานในการก่อสร้าง จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2527 กระทรวงศึกษาธิการ มีการประกาศยกฐานะให้วัดม่วงซึ่งเคยเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์ และเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดม่วงเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ. 2534 ท่านพระวิบูลอาจารคุณ ได้ร่วมพลังจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้สมทบทุนสร้างพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า “พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” มีหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร
4. วัดต้นสน
นอกจากนี้ยังประดิษฐานพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร พระนามว่า “สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง” หรือเรียกชื่อย่อว่า “สมเด็จพระศรีเมืองทอง” ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 1 ศอก 19 นิ้ว หล่อด้วยโลหะทั้งองค์ลงรักปิดทอง พระราชสุวรรณโมลี เจ้าอาวาสวัดต้นสนเดิมเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีสวมเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2528 นับเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกและมีพุทธลักษณะที่สวยงามมากอีกองค์หนึ่ง
6. วัดป่าโมกวรวิหาร
7. วัดไชโยวรวิหาร หรือวัดเกษไชโย
“พระมหาพุทธพิมพ์” หรือ “หลวงพ่อโต” แห่งวัดไชโย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธามาก มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 8 วา 7 นิ้ว ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตเป็นที่ประจักษ์กันดีในหมู่ชาวเมืองอ่างทองที่เคารพนับถือ กล่าวกันว่าผู้ที่ก่อกรรมทำชั่วไว้มากจะไม่สามารถเข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อโตได้ เนื่องจากเมื่อเข้าใกล้องค์พระจะเห็นว่าหลวงพ่อโตกำลังจะล้มลงมาทับ
8. วัดขุนอินทประมูล
ตั้งอยู่ในเขตตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย พิจารณาจากซากอิฐแนวเขตเดิมคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า “พระศรีเมืองทอง” มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารแต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศต่างนิยมมานมัสการ
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป และในศาลาอเนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลแต่บ้างก็ว่าไม่ใช่
แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของวัดขุนอินทประมูล คือพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ถึง 3 ชั้น และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บันไดเลื่อนและลิฟต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาทำบุญที่วัด
9. วัดบ้านพราน
วัดบ้านพราน ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีพราน เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 900 ปี สร้างในครั้งใดไม่ปรากฏ มี “หลวงพ่อไกรทอง” พระพุทธรูปหินทรายแกะสลักปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด ซึ่งถือเป็นศาสนวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และทางด้านจิตใจ ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงพ่อไกรทอง ซึ่งเป็นวิหารทรงเก๋งจีน ศิลปะยุคใหม่รัตนโกสินทร์ จำลองเป็นเก๋งจีนบนเรือสำเภา พาหนะที่อัญเชิญหลวงพ่อไกรทองมาประดิษฐานยังวัดบ้านพราน นับแต่สมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ทั้งนี้มีประวัติเล่าต่อกันมาว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สร้างที่เมืองสุโขทัย แล้วถอดเป็นชิ้นมาประกอบที่วัดบ้านพรานเพื่อให้เป็นพระประธาน แต่ผู้สร้างวัดต้องการสร้างพระประธานขึ้นเอง จึงได้สร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อไกรทอง” ไกร หมายถึง จีวร สังฆาฏิ สบงของหลวงพ่อไกรทอง เล่ากันต่อ ๆ มาว่าเมื่อถึงวันดีคืนดี เวลาเที่ยงคืน ไกรจะลุกเป็นไฟสว่าง โชติช่วง บอกนิมิตอันดีต่อผู้พบเห็น เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มภัยแก่ผู้ไปสักการบูชา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com
ความเห็นถูกปิด